อธิบดีผู้พิพากษาศาลฯแย้งคดี "บรรยิน" เห็นควรประหารชีวิต

15 ธ.ค. 2563 | 14:42 น.

"บวรศักดิ์ ทวิพัฒน์" อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเห็นแย้งคำตัดสินลดโทษ "บรรยิน"และพวก จำเลยที่ 1- 2 และ 4-6 ชี้ควรให้ประหารชีวิตสถานเดียว

วันที่ 15 ธันวาคม 2563 จากกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์  พร้อมพวก ในคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์จึงลด 1 ใน 3 เหลือคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 3 ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน

 

จากกรณีดังกล่าว นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาขององค์คณะผู้พิพากษาสำนวนคดีนี้ไว้  มีประเด็นรายละเอียดสรุปว่า 


การก่อเหตุในคดีนี้ จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีมูลเหตุจูงใจมาจาก จำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยโจทก์ร่วมไม่บันทึกคำพยานที่สำคัญที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกซักถามหรือถามค้านพยานและเมื่อจำเลยที่ 1 กับพวกยื่นคำร้องคัดค้านและขอถอนโจทก์ร่วม ออกจากการเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 

 

ประธานศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กรณีมิใช่เหตุที่จะคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน จึงไม่มีเหตุโอนสำนวนและมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง ซึ่งในกรณีเช่นนี้หาใช่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกจะหมดหนทางที่จะได้รับความยุติธรรม 

 

โดยจำเลยที่ 1 อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาสืบพยานในประเด็นคำพยานที่อ้างว่ามีความสำคัญนั้น และหากศาลไม่อนุญาตก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิจารณามีคำวินิจฉัยให้สืบพยานในประเด็นคำพยานที่อ้างว่ามีความสำคัญนั้นได้ 

 

จำเลยที่ 1 เคยรับราชการตำรวจตำแหน่งพันตำรวจโท และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีมาก่อน ประกอบกับมีทนายความช่วยแก้ต่างคดีให้ แต่จำเลยที่ 1กับพวกในคดีนี้กลับใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายเพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงสมควรลงโทษในสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นการป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้อีก 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน! พิพากษาประหารชีวิต 'บรรยิน' คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา

ท้ายความเห็นแย้งสรุปได้ว่า คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1,2 และ 4-6 เพราะจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏจากภาพกล้องวงจรปิด ข้อมูลจากพยานบุคคลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ รวมทั้งข้องมูลจากรายงานการสืบสวนและพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในสำนวนการสอบสวนและฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบและขอคัดถ่ายในชั้นตรวจพยานหลักฐานของศาลดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษที่จะลดโทษให้ 

 

ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตสถานเดียว สำหรับจำเลยที่ 1,2, 4-6 เมื่อร่วมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1,2, 4-6  สถานเดียว 

 

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่าสำหรับการทำความเห็นเเย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลางในคดีนี้ นั้นเป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 บัญญัติไว้ว่า ประธานศาลฎีกาประธานศาลอุทธรณ์ประธานศาลอุทธรณ์ภาคอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย 

 

โดย(1)นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใด ๆ ของศาลนั้นหรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้  โดยความเห็นเเย้งดังกล่าวจะถูกเเนบไปพร้อมกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเพื่อประกอบการพิจารณาหากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลสูงต่อไป