“ส.ส.ก้าวไกล”ชำแหละงบกลาโหมตั้งฉายา"งบ ลวง พราง"

01 ก.ค. 2563 | 10:43 น.

“ส.ส.ก้าวไกล”ชำแหละงบกลาโหม ตั้งฉายา "งบ ลวง พราง" จี้เปิดรายได้ธุรกิจกองทัพ-ชะลอซื้ออาวุธ ด้าน“นายกฯ”ยันจัดซื้อเท่าที่จำเป็น วอนสภาเข้าใจ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในวาระแรก ในช่วงเย็นมีการตั้งข้อท้วงติงในเรื่องการใช้งบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ของกองทัพ รวมถึงการจัดเตรียมกำลังพลที่อาจเกินความจำเป็น

 

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศกำลังเจอกับภัยคุกคามทางโรคระบาด ไม่ใช่ภัยคุกคามทางทหาร รัฐบาลจำเป็นต้องปรับความคิดเรื่องความมั่นคงจากทางทหารเป็นความมั่นคงในชีวิตของพี่น้องประชาชน การจัดทำงบประมาณต้องปรับงบกองทัพลงและเพื่อให้มีงบประมาณรองรับปัญหาเศรษฐกิจ สาธารณสุข และเยียวยาประชาชนมากขึ้น

 

เมื่อดูงบประมาณกระทรวงกลาโหม ขอเรียกว่า "งบ ลวง พราง" ซึ่งมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ

 

1.ลวงว่าลดแต่ไม่ได้ลด จากงบประมาณของกระทรวง 2.23 แสนล้านบาท เหมือนกับสัดส่วนของปีก่อนๆ แต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 แม้ว่าปีนี้จะดูเหมือนว่าลดลงไป 8,200 ล้านบาท ขณะเดียวกันเมื่อไปดูที่การโอนงบประมาณจากปี 2563 จำนวน 17,700 ล้านบาท เหลืองบประมาณของกระทรวงกลาโหมเดิมเหลือ 2.13 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2564 ก็จะเห็นว่าได้เพิ่มขึ้นจากงบประมาณที่ใช้ไปเมื่อปีที่แล้วหลักหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน งบประมาณเรือดำน้ำ งบซื้อเครื่องบินของกองทัพอากาศ ก็ยังมีอยู่ ทั้งที่ถูกตัดงบโอนคืนไปเมื่อปีที่แล้ว

 

2.การตัดงบอำพราง กระทรวงกลาโหมก่อหนี้ผูกพันข้ามปีถึง 173,144 ล้านบาทหรือ 77.46% ของงบประมาณ ขณะที่ทั้งรัฐบาลมีหนี้ผูกพัน 1,199,000 ล้านบาท หรือเพียง 36.33% ซึ่งน้อยกว่าเท่าตัว นั่นหมายความว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องใช้หนี้ส่วนนี้ ซึ่งงบผูกพันเหล่านี้ยังเบียดบังโครงการที่จำเป็น ซึ่งงบผูกพันเหล่านี้มี 22 โครงการเป็นงบการจัดซื้ออาวุธ และ 2 โครงการบำรุงและซ่อมอากาศยาน ซึ่งควรชะลอออกไปก่อน

 

และ 3.เงินนอกงบประมาณที่ไม่ได้รายงานจากรายได้ที่เป็นธุรกิจของกองทัพ เช่น ปั๊มน้ำมัน, สนามม้า, สนามมวย ฯลฯ ทั้งที่เคยบอกว่าจะปฏิรูปกองทัพ แต่ไม่นำเงินจำนวนนี้ขึ้นมาบนโต๊ะ ทำธุรกิจโดยไม่เปิดเผยรายได้ งบการเงิน หรือผลการตอบแทนให้ใคร หรือว่าเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย มีการจัดสรรแบ่งปันกัน เหมือนกันในการชั้นกรรมาธิการเมื่อปี 2563 ถามเกี่ยวกับธุรกิจกองทัพก็ไม่มีคำตอบ ตนเคยถามนายกรัฐมนตรีในกระทู้ถามสดเมื่อเดือนธันวาคม รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมก็ตอบเพียงว่าอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลแต่วันนี้ผ่านมา 202 วันแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบ

จาก 3 ข้อสังเกตในเบื้องต้น นำมาสู่ 3 ข้อเสนอ คือ

 

1.ตัดลดงบประมาณ 11,840 ล้านบาทจากการะชะลอ 6 โครงการผูกพันใหม่ 22 โครงการซื้ออาวุธใหม่ และ โครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน

 

2.ลดหนี้ผูกพันให้เหลือไม่เกิน 30% ของงบประมาณประจำปี

 

3.เปิดเผยผลการดำเนินงานธุรกิจทุกอย่างของกองทัพ เพื่อให้รายได้กลับมาสมทบคลังเพื่อไปใช้จ่ายในด้านที่จำเป็น แล้วค่อยทำโครงการขอมาหากมีโครงการที่จำเป็นเหมือนกระทรวงอื่นๆ

 

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงว่า เรื่องงบผูกพันธ์ข้ามปี ได้ตรวจสอบแล้วเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกประการ

 

ส่วนการจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ อยากเรียนว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้รับการสนับสนุนในส่วนนี้เลย ทำให้อาวุธที่ใช้อยู่มีสภาพเก่าประมาณ 70-80% ดังนั้น การจัดหาจึงเป็นการจัดหาทดแทนเพื่อไม่ให้เสียงบซ่อมบำรุงซึ่งการจัดซื้อก็ไม่ได้หมายความว่าซื้อแล้วจะได้ แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างฐานการผลิต จึงขอให้เข้าใจในส่วนนี้ด้วย

 

ขณะที่การบรรจุข้าราชการทหารในปัจจุบัน มีจำนวนเพียง 1ใน 3 โดยยึดหลักการตามที่ควรจะมีเท่านั้น

 

ขณะที่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม กล่าวว่า กลาโหมตระหนักดีในเรื่องการใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด  โดยการจัดเตรียมกำลังนั้นได้จัดเตรียมตามความเร่งด่วน

 

ยืนยันว่าไม่ได้จัดเตรียมจนครบ 100% แต่เป็นการจัดเตรียมเพื่อความพร้อมในระดับหนึ่ง หรือ 1ใน 3 เท่าที่มีอยู่ให้พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เมื่อเกิดสถานการณ์ได้ ในเรื่องอาวุธยุทธโธปกรณ์ก็ใช้วิธีซ่อมปรับปรุงเป็นอันดับแรก ซึ่งงบประมาณที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ใช้ในส่วนนี้

 

 แม้กองทัพจะมีอาวุธยุทธโธปกรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากไปดูสภาพการใช้งาน จะพบว่าอยู่ในสภาวะเก่าเป็นจำนวนมาก อากาศยานบางลำมีอายุใช้งานกว่า 40 ปี จึงมีความจำเป็นต้องมีการจัดซื้อ ขอย้ำว่าดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเพียงพอในการแก้ไขสถานการณ์ได้

 

ส่วนสถานการณ์โควิดจะเห็นว่ากลาโหมมีการโอนงบถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะป็นส่วนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี

 

“งบที่จะได้รับในปี 64 ก็จะลดลงเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทธโธปกรณ์ใหม่ซึ่งปีนี้ลดลงจากปี 63 ถึง12%  เช่นเดียวกับรายการอื่นๆ ซึ่งมีการปรับลดเป็นจำนวนมาก”

 

ส่วนเงินสวัสดิการต่างๆ ยืนยันว่ายึดตามระเบียบปฏิบัติและมีกลไกในการตรวจสอบ