‘สุวิทย์’ โพสต์ BCG Model คืออะไร...ใครอยากรู้บ้าง??

12 ต.ค. 2562 | 08:01 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ โพสต์เฟสบุ๊คแจงแนวคิด "BCG Model" แบบที่เข้าใจง่ายๆดังข้อความต่อไปนี้

‘สุวิทย์’ โพสต์ BCG Model คืออะไร...ใครอยากรู้บ้าง??

    "ใครที่อยากรู้ว่า “BCG Model” คืออะไร  แล้วคนไทยจะได้อะไรบ้าง ผมจะมาถอดรหัสให้ทุกคนเข้าใจอย่างง่าย ๆ กันครับ"

      แนวคิด BCG Model ก็คือการสร้างความสมดุลให้ “เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” โดยนำองค์ความรู้ การบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาต่อยอดความเข้มแข็ง นั่นก็คือ การนำคุณค่าจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมมาแปลงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มาปรับเปลี่ยนระบบการบริโภคและการผลิตที่นำไปสู่กระบวนการที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความสมดุลและตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

BCG มี 3 องค์ประกอบสำคัญ ซึ่งสามารถอธิบายได้ตามนี้เลยครับ

B = Bioeconomy คือ การนำทรัพยากรชีวภาพมา “ผลิตให้คุ้มค่าที่สุด” โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย 

C = Circular economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีคอนเซปต์ให้เข้าใจสั้นๆ ก็คือ “การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด” ของที่ใช้ในการผลิตต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 

G = Green economy เป็นระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมรวมถึงการจัดการสภาพสังคมให้ “กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด” 

‘สุวิทย์’ โพสต์ BCG Model คืออะไร...ใครอยากรู้บ้าง??

      ซึ่งในปัจจุบันเราได้ใช้ BCG Model เป็นรูปธรรมแล้วในหลายโครงการ อย่างเช่น นำความรู้และเทคโนโลยี มาพัฒนามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยดูแลการบริหารจัดการวัตถุดิบครบวงจร พัฒนากระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการฉายรังสี จนได้คุณภาพดีตามข้อกำหนดการนำเข้าของประเทศสหรัฐฯ สามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จในรอบ 12 ปี  เป็นผลงานการวิจัยของวช.ที่สร้างมูลค่ากับสินค้าเกษตรของไทย 

      เมื่อไม่นานมานี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือได้มีการนำเสนอ BCG Startup ที่รวมผลงานที่ขับเคลื่อน BCG Model เป็นรูปธรรมหลายผลงานที่น่าสนใจ นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล อาทิ Recute ระบบการจัดการขยะรีไซเคิล, NU Bio Bags พลาสติกชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อมจากกากกาแฟที่สามารถย่อยสลายได้ 100%, การปลูกผักพร้อมทานในบรรจุภัณฑ์ โดย ทิวา อินโนเวท และ TRIBES ผลิตภัณฑ์กาแฟ ชา ของกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงรายที่มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยพลังชุมชน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง 7 สถาบัน ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.พะเยา ม.นเรศวร ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ และ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม

      "นับเป็นตัวอย่างที่ใช้การวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี ผมจะทยอยมาเล่าให้ฟังถึงแนวทางขับเคลื่อน BCG ของอว.ต่อไปนะครับ และผมคิดว่า BCG Model นี้จะช่วย ขับเคลื่อนประเทศได้ในอีกหลายภาคส่วน เรียกได้ว่าครอบคลุมและตอบโจทย์หลักที่เราตั้งใจจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยคนไทยทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วม และเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนครับ"