ศาล รธน. ส่อรับคำร้องตีความ "สูตรปาร์ตี้ลิสต์" ไว้พิจารณา

16 เม.ย. 2562 | 09:32 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่


ศาลรัฐธรรมนูญประชุมพรุ่งนี้ (17 เม.ย.) ส่อรับคำร้อง กกต. ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การจัดสรรเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ให้พรรคเล็กคะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมี ได้สิทธิ์มี ส.ส. ได้หรือไม่ ไว้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพุธที่ 17 เม.ย. นี้ ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมเพื่อพิจารณากรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องมาให้พิจารณาวินิจฉัยว่า กกต. จะสามารถคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมี ได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะรับคำร้อง กกต. ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา กกต. ทั้ง 7 คน ได้มีมติเอกฉันท์ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะ กกต. เห็นว่า แม้การคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128(5) แล้ว จะมีหลายพรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวน ส.ส.จะพึงมี ได้เบื้องต้นต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน และสามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้ครบ 150 คน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ตาม

แต่การคำนวณตามมาตรา 128(5) ดังกล่าว มีผลขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91(2)(4) เนื่องจากมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.จะพึงมี ได้ต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวน ส.ส. เกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญตาม 91(4)

แต่หากคำนวณหาจำนวนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จะไม่สามารถจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้ครบ 150 คน อีกทั้งหากไม่นำจำนวน ส.ส.ที่จะพึงได้ ต่ำกว่า 1 คน ไปคิดคำนวณต่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128(5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คนเช่นกัน จึงไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวน ส.ส. ได้ 150 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 ได้

กกต. จึงเห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องของอำนาจหน้าที่จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210(1)(2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ว่า เมื่อ กกต. จะคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามวิธีการดังกล่าวแล้ว ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ครบ 150 คน ดังนั้น กกต. จะคำนวณตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรค 3 ประกอบมาตรา 128 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งการคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน กกต. จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91 หรือไม่