จบคดี พธม. ยึดทำเนียบ! ศาลฎีกาสั่งคุก 8 เดือน "จำลอง-สนธิ-พวก 4 คน"

13 ก.พ. 2562 | 04:07 น.
ปิดฉากคดียึดทำเนียบฯ ปี 51 ศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 แกนนำพันธมิตร 8 เดือน "จำลอง-สนธิ-สมศักดิ์-พิภพ-สมเกียรติ-สุริยะใส" ศาลชี้! อ้างชุมนุมโดยสงบฟังไม่ขึ้น ส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

เช้าวันนี้ (13 ก.พ. 62) ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี อดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1-6

ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก โดยกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ กรณีบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 358, 362, 365

อัยการโจทก์ฟ้อง ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำเลยดังกล่าวเป็นแกนนำได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อกดดันให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2551 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกก็ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบทุกด้าน ได้ใช้เครื่องมือทำลายกุญแจประตูทำเนียบ และทำลายแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบ จนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2551 พวกจำเลย ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวางแล้ว ปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลรวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อ ที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลแล้ว ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยและช่วงวันที่ 26 ส.ค. 2551 – 3 ธ.ค. 2551

ระหว่างที่พวกจำเลยจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนาม หน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิด ทำให้ระบบอิเล็กโทรนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท

โดยจำเลยทั้ง 6 คน ให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2558 เห็นว่า จำเลยทั้ง 6 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 การกระทำของจำเลยผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาวันที่ 24 ก.ค. 2560 แก้เป็นจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา ยกเว้น นายสนธิ ซึ่งถูกคุมขังในคดีทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ต่อมาจำเลยทั้งหกยื่นฎีกา โดยในวันนี้ ศาลได้เบิกตัว นายสนธิ จำเลยที่ 2 มาจากเรือนจำกลางคลองเปรม ส่วน พล.ต.จำลอง, นายพิภพ, นายสมเกียรติ, นายสมศักดิ์ และนายสุริยะใส เดินทางมาศาล โดยมีผู้สนับสนุนและญาติเดินทางมาให้กำลังใจเต็มห้องพิจารณาคดี

ศาลพิจารณาฎีกาของจำเลยทั้งหกแล้วเห็นว่า ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบตามที่จำเลยอ้าง เพราะพฤติการณ์ของจำเลยและผู้ชุมนุมได้ปีนรั้วเข้าทำเนียบรัฐบาลที่ล็อกไว้ และอยู่ต่อเนื่อง ทำลายทรัพย์สินเสียหาย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหก ฐานร่วมกันบุกรุกทำให้เสียทรัพย์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งหกฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น

ศาลเห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งหกและพวกได้บุกเข้าทำเนียบ ซึ่งแม้เป็นสาธารณสมบัติ แต่ก็เป็นสถานที่บริหารราชการแผ่นดิน เป็นศูนย์รวมหน่วยงานราชการหลายแห่ง มีการทำลายทรัพย์สินหลายรายการ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งหกเป็นเวลา 8 เดือน ไม่รอลงอาญานั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแลเวให้จำคุกคนละ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็จะนำตัว พล.ต.จำลอง, นายพิภพ, นายสมเกียรติ, นายสมศักดิ์, นายสุริยะใส ซึ่งเคยได้รับการประกันตัว ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาต่อไป เช่นเดียวกับนายสนธิ

ติดตามฐาน