ป.ป.ช. แจงปมนาฬิกาหรู "บิ๊กป้อม" กับรถตู้ "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" ต่างกัน

18 ม.ค. 2562 | 12:38 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ป.ป.ช. แจงยิบ เทียบเคียงปมนาฬิกาหรู "บิ๊กป้อม" กับรถตู้ "สุพจน์ ทรัพย์ล้อม" ต่างกัน ย้ำ "บิ๊กป้อม" แค่ยืมและครอบครอง ส่วนอดีตปลัด "สุพจน์" มีคนซื้อให้

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีนาฬิกาหรู และเทียบเคียงข้อเท็จจริงคดีรถโฟล์กสวาเกนของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1054-125/2561 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 พิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมใส่นาฬิกาหรู แต่ไม่แจ้งนาฬิกาดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2557


สำนักงานป.ป.ช.

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่า กรณียังไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน และให้แจ้งข้อมูลนาฬิกา จำนวน 22 เรือน ต่อกรมศุลกากร เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนทราบแล้วนั้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2562 ในเวทีการพบปะระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับบรรณาธิการ สื่อมวลชน ได้มีการสอบถามเหตุผลในการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจต่อสังคมโดยทั่วกัน สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า

ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของนาฬิกาดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดยืนยันว่า นาฬิกาดังกล่าวเป็นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คงปรากฏเพียงภาพถ่ายที่ พล.อ.ประวิตร สวมใส่อยู่ ซึ่งรับฟังได้เพียงว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ครอบครองใช้เท่านั้น ส่วนความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงในบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช. ยังฟังยุติไม่ได้ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ทั้งพยานวัตถุ พยานเอกสาร และพยานบุคคล ต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่า นาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์

สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ซื้อนาฬิกาจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายในต่างประเทศนั้น กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก เห็นว่า การตรวจสอบทรัพย์สินในต่างประเทศในกรณีนี้ เป็นการตรวจสอบไปยังประเทศที่บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกาตั้งอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบทวีปยุโรป ซึ่งมีหลักการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศที่เคร่งครัดในการดำเนินการขอความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผ่านอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางนั้น จึงมีประเด็นสำคัญในเรื่องหลักความผิด 2 รัฐ หรือ Dual Criminality ซึ่งมีหลักการว่า ฐานความผิดในการขอความร่วมมือต้องเป็นความผิดทางอาญาของประเทศ ผู้รับคำร้องด้วย ซึ่งกรณีนี้เป็นความผิดในเรื่องการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งในบางประเทศไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและไม่เป็นคดีทุจริต แต่เป็นเพียงการตรวจสอบในเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น

ดังนั้น ในกรณีที่ไม่เป็นความผิดทางอาญาในประเทศผู้รับคำร้อง ประเทศดังกล่าวจะปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนั้น การขอความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านอัยการสูงสุดเป็นกระบวนการตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานานมากเป็นปีในการขอความร่วมมือดังกล่าว


แอดฐานฯ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2555 ข้อ 23 ซึ่งกำหนดให้ในกรณีจำเป็นต้องตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในต่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการขอให้เอกอัครราชทูต หรือ กงสุลของประเทศไทยในประเทศดังกล่าว ตรวจสอบข้อมูลให้ได้ โดยตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายนาฬิกาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

แต่เนื่องจากทรัพย์สินในกรณีนี้ คือ นาฬิกา ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียนตามกฎหมาย มีการซื้อขายและเปลี่ยนมือได้ง่าย ทำให้การติดตามเป็นไปได้ยาก ประกอบกับข้อมูลความเป็นเจ้าของดังกล่าวถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล บางประเทศจึงปฏิเสธไม่เปิดเผย นอกจากนี้ บางประเทศได้มีการอ้างถึงหลักความผิด 2 รัฐ หรือ Dual Criminality โดยแจ้งว่า การยื่นบัญชีเท็จไม่เป็นความผิดอาญาในประเทศของตน จึงปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลไม่ว่าจะมีการขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม

สำหรับประเด็นที่มีการนำกรณีการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรูไปเทียบเคียงกับการตรวจสอบคดีรถโฟล์กสวาเกนของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจอย่างถูกต้อง ว่า พฤติการณ์และข้อเท็จจริงของทั้ง 2 คดีแตกต่างกัน สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้จัดทำตารางเปรียบเทียบ เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบเป็นการทั่วไป ดังนี้

ปปช.1

ปปช.2

ติดตามฐาน