กกต. จับสลาก "413 ผู้ตรวจฯ" คุมเลือกตั้ง ส.ส.

25 ธ.ค. 2561 | 06:13 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กกต. จับสลาก 413 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตแล้ว เผย หากมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. เริ่มงานทันที

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วยกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมกันจับสลากแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ถูกขึ้นบัญชีไว้จำนวน 603 คน มีผู้ลาออก 3 คน ถูกคณะกรรมการคัดชื่อออก 10 คน และไม่พร้อมในการปฎิบัติหน้าที่ 7 คน ทำให้เหลือรายชื่อที่จะถูกจับสลากในครั้งนี้ 583 คน โดย กกต. จะจับสลากผู้ทำหน้าที่เพียง 413 คน


กกต.จับสลาก2

ในการจับสลากถูกแบ่งออกเป็น 10 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 7-9 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในจังหวัดนั้น 2 คน ส่วนที่เหลือมาจากในจังหวัดอื่นที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน

ส่วนจำนวนผู้ตรวจการเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนเขตเลือกตั้งในจังหวัด 5-8 คน โดยถ้าในจังหวัดมีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขตเลือกตั้ง มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 5 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขต มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 6 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-10 เขต มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 7 คน และจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งมากกว่า 12 เขตขึ้นไป มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 8 คน ซึ่งหลังจับสลาก รายชื่อทั้งหมดจะถูกเสนอต่อที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป


กกต.จับสลาก3

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การจับสลากผู้ตรวจการเลือกตั้งเพื่อที่จะไปทำหน้าที่ในการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 413 คน ไปปฎิบัติหน้าที่ในกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะทำการตรวจการทำงานของกรรมการประจำหน่วยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมด ตรวจเรื่องของการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งทุจริต

อย่างการเลือก ส.ว. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ได้เบาะแสว่า มีผู้สมัครบางคนเสนอทรัพย์สินให้กับผู้สมัครด้วยกันเอง เพื่อให้ตัวเองได้รับการคัดเลือก และได้มีการเข้าไปพูดคุย หาข้อมูล จนสมารถเสนอเรื่องให้ กกต. ระงับสิทธิ์ของผู้สมัครที่กระทำความผิด การปฎิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ส.ส. จะเริ่มเมื่อมี พ.ร.ฏ.เลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีผู้ตรวจการเลือกตั้งบางรายลาออกย้อนหลังจากที่ทำงานเดิมจะถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ เลขาฯ กกต. กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานเรื่องนี้เข้ามา ถ้ามีจะตรวจสอบและดูข้อกฎหมาย แต่โดยปกติการลาออกจะมีผลเมื่อเจ้าตัวได้ยื่นหนังสือลาออก ซึ่งบางแห่งยื่นไว้แต่ต้นสังกัดยังไม่มีการประกาศ

แอดฐานฯ