ลูกจ้างเฮ! สนช. ผ่านกฎหมายเพิ่มสิทธิทำงานเกิน 20 ปี ได้ชดเชย 400 วัน

14 ธ.ค. 2561 | 10:33 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สนช. มีมติเห็นชอบให้มีการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เป็นกฎหมาย เพิ่มการคุ้มครองสิทธิให้กับลูกจ้างเกี่ยวกับวันลา ค่าชดเชย และอัตราค่าจ้างที่เท่าเทียมเป็นมาตรฐาน

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 13 ธ.ค. 2561 มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งสมาชิก สนช. ซักถามเพิ่มเติมถึงรายละเอียดในการปฏิบัติตามเนื้อหาของร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิลูกจ้างเพิ่มในการลาคลอดบุตรและลาตรวจครรภ์ไม่เกิน 98 วัน ที่นับรวมวันหยุดระหว่างวันลา จากนั้นที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ทั้งฉบับ เพื่อให้มีการประกาศใช้เป็นกฎมาย ด้วยเสียง 180 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย


parlia

สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีการเพิ่มบทบัญญัติหลายประการให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเอื้อต่อการให้ความคุ้มครองลูกจ้าง อาทิ เพิ่มอัตราชดเชยให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป โดยให้ได้ค่าชดเชยเลิกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน เพิ่มขั้นจากเดิมอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชยสูงสุดไม่น้อยกว่า 300 วัน ขณะเดียวกันลูกจ้างที่มีอายุงานไม่ถึง 20 ปี ได้อัตราชดเชยการเลิกจ้างในอัตราเดิม คือ ลูกจ้างอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน ลูกจ้างอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่า 90 วัน ลูกจ้างอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน ลูกจ้างมีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน

นอกจากนี้ ยังขยายการคุ้มครองกรณีการเปลี่ยนตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระจำเป็นไม่น้อยกว่า 3 วัน กำหนดให้ลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้ โดยถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตรจำนวน 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างระหว่างลา 45 วัน และอีก 45 วัน จากกองทุนประกันสังคม โดยในส่วนของ 8 วัน ที่ได้ลาเพิ่ม นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันเพื่อจ่ายค่าจ้างหรือไม่ก็ได้

กรณีย้ายสถานที่ทำการต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบภายในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และต้องมีความชัดเจนเมื่อจะย้ายสถานที่ประกอบการไปสถานที่ใหม่ และการแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงที่มีค่าเท่าเทียม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คาดจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค. 2562

595959859