กกต. สั่งสอบอดีต ส.ส. บินพบ "ทักษิณ" หากผิดยุบพรรคทันที

09 ต.ค. 2561 | 10:44 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กกต. สั่งสอบ "อดีต ส.ส.เพื่อไทย" บินพบ "ทักษิณ" ที่ฮ่องกง เข้าข่ายครอบงำหรือไม่ ชี้! หากสอบพบยินยอมให้ครอบงำ ต้องถูกยุบพรรคทันที

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฮ่องกง ว่า เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ กรณีการให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำ หรือ ชี้นำกิจกรรมของพรรค ซึ่งหากการตรวจสอบพบว่า พรรคเพื่อไทยยินยอมให้มีการครอบงำ ต้องถูกยุบพรรคทันที


พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา

ทั้งนี้ มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใด อันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิก กระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือ ชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

และมาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใด ซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือ ชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความ "ท่าทีที่เปลี่ยนไป ของคนในรัฐบาล!" ลงในเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า "ผมค่อนข้างแปลกใจกับท่าทีและจุดยืนของรองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม ที่ระบุว่า การเดินทางไปพบคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นเสรีภาพ คสช. ปล่อยแล้ว และยังบอกว่า ใครจะตั้งพรรคสำรองกี่พรรคก็เป็นสิทธิที่ทำได้ ถ้ามีทุนและมีสติปัญญา

ฟังแล้วก็ค่อนข้างแปลกใจกับจุดยืนดังกล่าวของท่านรองนายกฯ ที่ผมเป็นห่วง ก็คือ การพูดเช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่กำลังตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายผิดมาตรา 28 และ 29 พรป.พรรคการเมือง ที่ห้ามพรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลภายนอกยุ่งเกี่ยวกับกิจการในพรรค ซึ่งมีผู้ร้องต่อ กกต. ในกรณีของพรรคเพื่อไทยไปแล้วก่อนหน้านี้

ท่าทีของคนในรัฐบาล บางเรื่องต้องไม่ชี้นำ บางเรื่องต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะมีอิสระในการวินิจฉัย เพราะอาจทำให้การทำงานของ กกต. มีปัญหาตามมาด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ เรากำลังเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง มีคำสั่ง คสช. ควบคุมการทำกิจกรรมสิทธิและเสรีภาพของพรรคการเมืองสารพัดคำสั่ง แต่สิ่งที่คนในรัฐบาลทำ ก็ดูเหมือนกับไม่ได้เคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา นี่ยังไม่รวมถึงการทำหน้าที่ของรัฐบาล ในการนำคนผิดกลับมารับโทษในกระบวนการยุติธรรมด้วย"

"การตั้งพรรคสำรองหลายพรรคเพื่อเก็บคะแนนเสียงจากระบบเลือกตั้งแบบใหม่ แม้เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่วิธีดังกล่าวจะทำลายระบบพรรคการเมืองที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและ พรป.พรรคการเมือง ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง การตั้งพรรคเครือข่าย พรรคสำรอง พรรคแนวร่วม จะทำให้พรรคการเมืองจมอยู่กับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม แบบนี้ก็จะทำให้การปฏิรูปการเมืองโดยพรรคการเมือง ไม่ประสบความสำเร็จ" นายสุริยะใส ระบุ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว