สนช.เท211เสียงรับหลักการร่างพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ

03 ส.ค. 2560 | 11:57 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สนช.ผ่านวาระ1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 211 เสียง รมช.คลังชี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุน ลดภาระต้นทุนการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล

วันนี้(3 ส.ค.2560) เว็บไซต์ http://www.radioparliament.net เผยแพร่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมสนช. มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนน เห็นด้วย 211 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าว 17 คน ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.)  3 คน และ สมาชิก สนช. 14 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 30 วัน

โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วย(รมช.)ว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อที่ประชุมว่า เหตุผลที่ต้องตรา พ.ร.บ.เนื่องจากต้องการกำหนดขอบเขตของนิยามคำว่า "หนี้สาธารณะ" ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ อำนาจหน้าที่ของสำนักงานหนี้สาธารณะ รวมทั้งแก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ  และหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุน เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รมช.ว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารหนี้สาธารณะมีบทบาทสำคัญต่อการบริหารนโยบายทางการคลังของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะที่ผ่านมามีข้อจำกัดหลายประการ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นควรให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกในการลงทุน และลดภาระต้นทุนการปรับโครงสร้างหนี้ของกระทรวงการคลัง และช่วยพัฒนาตราสารหนี้ในประเทศ