หนุนตั้งคลินิกหมอครอบครัวจ่าย 150 บาทต่อคน

05 มิ.ย. 2560 | 08:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินฯ เห็นชอบตั้งคลินิกหมอครอบครัวตามรธน. ปรับวิธีจ่ายเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม  จ่ายงบประมาณสนับสนุน 150 บาทต่อคน เดินหน้าเขตเมืองก่อน ตั้งเป้าสิ้นปี 2560 ได้ 600 ทีม

วันนี้ (5 มิถุนายน) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงผลงานของกระทรวงสาธารณสุขในรอบ 3 ปีและแผนงานต่อไปในช่วงเวลา 1 ปี 4 เดือนที่รัฐบาลยังคงดำเนินงานอยู่ โดยที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอของบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัวตามรัฐธรรมนูญ 150 บาท ต่อประชากร 1 คน โดยปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งทีมหมอครอบครัวที่มีแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล 1 ทีมต่อประชาชน 1 หมื่นคน เริ่มต้นในเขตเมืองก่อนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย เพื่อลดการเดินทาง และการรอคอยที่จะมารักษาในโรงพยาบาล

[caption id="attachment_157352" align="aligncenter" width="340"] นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร[/caption]

อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2559 ได้จัดตั้งทีมหมอครอบครัวไปแล้วกว่า 48 ทีม ตั้งเป้าปี 2560 จะขยายให้ได้ 600 ทีม โดยจะปรับวิธีการจ่ายเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม เพื่อสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัว รวมถึงตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอเพื่อส่งเสริมการทำงานแบบประชารัฐ

ขณะที่ผลงานที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุข ยังมีการจัดให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เพื่อลดความเลื่อมล้ำ ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนใกล้บ้านได้ทุกแห่ง โดยการบริการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีการติดต่อและประเมินผลอยู่ตลอด รวมถึงมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีปัญหาน้อยกว่าที่คาดไว้

ส่วนการดูแลผู้ป่วยโรคไตเสื่อมที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยกว่า 8 ล้านคนนั้น เชื่อว่า หากทิ้งไว้ 1-2 ปี จะต้องเข้าสู่ระบบล้างไต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการจัดตั้งคลินิกดูแลผู้ป่วยโรคไตเสื่อมทั่วประเทศเพื่อชะลอการล้างไตให้นานที่สุด ส่งผลให้ลดการใช้จ่ายงบประมาณในการล้างไตไปกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนางานด้านสมุนไพรนั้น รัฐบาลได้สนับสนุนเต็มที่พร้อมให้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทเพื่อดำเนินการในการพัฒนาสมุนไพร โดยให้มีการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อนำมาแปรรูปและส่งออก