ก.ม.เศรษฐกิจในมือสนช.รอถก‘2 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม’

01 เม.ย. 2560 | 05:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ในช่วงที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณาร่างกฎหมายไปแล้วหลายร้อยฉบับ มีทั้งที่ผ่านเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.ก็มีจำนวนมาก

สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ในชั้นของสนช.นั้น สนช.ได้รับร่างพ.ร.บ.มาพิจารณาแล้วรวมทั้งสิ้น 285 ฉบับมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เสนอ 21 ฉบับ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอ 196 ฉบับ และที่สมาชิกสนช.เสนออีก 4 ฉบับ ผ่านการพิจารณาวาระ 3 สนช.เห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว 228 ฉบับ ที่เหลืออยู่ในขั้นตอนของกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 2 จำนวน 16 ฉบับ อยู่ในชั้นการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ 12 ฉบับ รอบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 อีก 3 ฉบับ หรือตกไปเนื่องจากเป็นร่างพ.ร.บ.การเงิน หรือผู้เสนอขอถอน หรือขอยุติการดำเนินการ อีกจำนวนหนึ่ง เป็นต้น

“ฐานเศรษฐกิจ”ตรวจสอบพบว่าร่างกฎหมายเศรษฐกิจที่น่าสนใจและอยู่ในชั้นการพิจารณาของ สนช.วาระ 2-3 อาทิ ร่างพ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพษน้ำมัน พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ รอลงมติวาระ 3 สาระสำคัญคือ เจ้าของเรื่องต้องรับผิดอย่างเคร่งครัดกรณีสร้างความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน รวมถึงให้มีการประกันภัยหรือหลักประกันทางการเงินอื่น

ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...)พ.ศ....อยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ ที่ขอขยายเวลา สาระสำคัญคือ การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมจากเดิมต้องได้รับสัมปทาน เพิ่มเป็นได้สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือได้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต จะสำรวจหรือผลิตที่ใดเป็นอำนาจของคณะกรรมการจะกำหนด โดยความเห็นชอบของครม.

ร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม เพื่อกำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพิ่ม และกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งกมธ.วิสามัญกำลังพิจารณา

ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ... ตามที่ได้มีการจัดตั้งบอร์ดและกระทรวงดิจิทัลฯตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและอำนาจหน้าที่ให้รองรับเรื่องดังกล่าว

ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ....เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม กลไกส่งเสริมพัฒนา ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา เสนอแผนพัฒนาต่อครม. เสนอแนะหน่วยงานรัฐ และนำระบบจดแจ้งในการประกอบธุรกิจมาใช้กับการเกษตรระบบนี้

ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.... เพื่อให้มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม สอดคล้องมาตรฐานสากล โดยทารกหมายถึงเด็กแรกเกิดถึง 1ปี เด็กเล็กคือ อายุตั้งแต่ 1 ปีถึง 3 ปี ให้มีคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก วางนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ รวมถึงบทลงโทษ

ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ… . ซึ่งเป็นการกำหนดบททั่วไปเกี่ยวกับการดำเนินการทางศุลกากร หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดเก็บอากร การนำเข้า การส่งออก การผ่านแดน การถ่ายลำเป็นต้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ ที่ขอขยายเวลาพิจารณา

ร่างพ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง (ฉบับที่… )พ.ศ… . เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 เพื่อให้ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น เกี่ยวกับนิยามคำว่าห้างหุ้นส่วน และบริษัท ความรับผิดต่อผู้บริโภค ฯลฯ อยู่ในชั้นกมธ.วิสามัญฯที่ยื่นขอขยายเวลาการพิจารณา

ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.... ยกเลิกกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ มาเป็นฉบับเดียว เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยประชาชน และสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก

ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายป.ป.ช. อยู่ในชั้นพิจารณาของกมธ.วิสามัญเช่นกัน

นอกจากนี้ร่างกฎหมายด้านเศรษฐกิจ ที่รอบรรจุเข้าระเบียบวาระพิจารณาของสนช. อาทิ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการเรื่องน้ำให้เป็นเอกภาพ วางหลักเกณฑ์ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ ให้มีองค์กรบริหารจัดการตั้งแต่ระดับชาติลงมาถึงผู้ใช้ ที่เปิดรับการมีส่วนร่วม และ ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ....เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ เนื่องจากกฎหมายทั่วไปที่มีอยู่ไม่อาจกำกับดูแลได้เพียงพอ เป็นต้น

กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉลุย


นพ.เจตน์ ศิรธนานนท์ ประธานคณะกรรมการประสานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยว่า ร่างพ.รบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ…แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.เดิมปี 2542 ผ่านสภาวาระ2-3 ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ มีสาระสำคัญคือ ป้องกันการผูกขาดตลาดโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แม้จะแก้ไขให้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐฯ ไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็มีข้อดีหลายประการที่ได้รับการแก้ไข

ประเด็นที่ถกเถียงกันมากในสภาคือ มาตรา 51 ที่ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาด จะต้องแจ้งขออนุญาตจากคณะกรรมการ(คกก.)การแข่งขันทางการค้าก่อนการรวมธุรกิจ...หรือรวมไปก่อนแล้วจึงค่อยแจ้งให้คกก.ทราบภายใน 7 วัน สรุปผลสุดท้ายสภามีมติให้คกก.ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นก่อนแล้วจึงให้ผู้ประกอบธุรกิจขออนุญาต(Preauthorize) ก่อนควบรวมธุรกิจ

การรวมธุรกิจให้หมายความรวมถึง 1.ผู้ผลิตรวมกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายรวมกับผู้จำหน่าย ผู้ผลิตรวมกับผู้จำหน่ายหรือผู้บริการรวมกับผุ้บริการ โดยมีธุรกิจหนึ่งสิ้นสุดลง

2.การเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่น เพื่อควบคุมนโยบายการบริหารหรือการจัดการตามหลักเกณฑ์ของ คกก.

3.การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อควบคุมนโยบายหรือการจัดการตามหลักเกณฑ์ของคกก.

การอนุญาตต้องดำเนินการภายใน 90 วัน ขยายเวลาได้ไม่เกิน 15 วัน โดยการอนุญาตให้คำนึงถึงความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงและการไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญของผู้บริโภคส่วนรวม

ห้ามผูกขาดหรือลดการแข่งขันในลักษณะ 1.กำหนดราคาซื้อหรือราคาขายหรือเงื่อนไขทางการค้าใดๆไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่มีผลต่อราคาสินค้าหรือบริการ

2.จำกัดปริมาณสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะผลิต ซื้อ จำหน่ายหรือบริการตามที่ตกลงกัน 3.กำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในลักษณะสมรู้กันเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งได้รับการประมูลราคาสินค้าหรือบริการหรือเพื่อมิให้ฝ่ายหนึ่งเข้าแข่งขัน 4.กำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่าย

“ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับทางปกครอง และบุคคลผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำการฝ่าฝืนได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) หรือสมาคมหรือมูลนิธิที่สคบ.รับรองตามกฎหมาย มีสิทธิฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560