ไทยจุดความร้อนพุ่ง 1,133 จุด ส่วน 11 จังหวัดยังคงจมฝุ่น

06 ก.พ. 2567 | 02:28 น.

ไทยจุดความร้อนพุ่ง 1,133 จุด  ขึ้นนำเพื่อนบ้าน ส่วน 11 จังหวัดยังคงจมฝุ่นมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ 

จิสด้า หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และ นวัตกรรม หรือ อว. ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 พบ 11 จังหวัดมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ คือ  

  •  มุกดาหาร 87.7 ไมโครกรัม 
  •  กาฬสินธุ์ 81.9 ไมโครกรัม 
  •  ยโสธร 80.3 ไมโครกรัม 
  •  สิงห์บุรี 77.7 ไมโครกรัม 
  •  ร้อยเอ็ด 77.4 ไมโครกรัม 
  •  สมุทรสงคราม 76.7 ไมโครกรัม 
  •  ชัยนาท 76.1 ไมโครกรัม 
  •  นครสวรรค์ 76.0 ไมโครกรัม 
  •  มหาสารคาม 75.4 ไมโครกรัม 
  •  อุบลราชธานี 75.3 ไมโครกรัม
  •  และอำนาจเจริญ 75.2 ไมโครกรัม


สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่ามีเพียงเขตเดียวที่มีค่าฝุ่น PM2.5 ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพสีส้ม คือ หนองแขม 49.9 ไมโครกรัม ในส่วนของ 49 เขตที่เหลือยังมีค่าคุณภาพอากาศปานกลางไปจนถึงคุณภาพอากาศดี

ทั้งนี้ จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,133 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 363 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 303 จุด พื้นที่เกษตร 194 จุด ชุมชนและอื่นๆ 155 จุด พื้นที่เขต สปก. 112 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 6 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ 

  • กาญจนบุรี 264 จุด 
  • ชัยภูมิ 156 จุด 
  • ลำปาง 57 จุด 

นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านที่พบจุดความร้อน มากสุดวันนี้อยู่ที่ไทยสูงถึง 1,133 จุด ตามด้วยกัมพูชา 1,001 จุด ตามด้วย พม่า 833 จุด เวียดนาม 456 จุดและลาว 367 จุด


แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับสีส้มต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบรายชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"