ฝนดาวตก 14 ธันวาคม 2566 คืนนี้อย่าพลาดชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์”

14 ธ.ค. 2566 | 03:39 น.

ฝนดาวตก 14 ธันวาคม 2566 คืนนี้เหล่านักดาราศาสตร์ทั้งหลายอย่าลืมพลาดชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” พร้อมพิกัดสถานดูดาว 30 แห่งทั่วประเทศ คลิกอ่านด่วนที่นี่

ฝนดาวตก 14 ธันวาคม 2566  NARIT  หรือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า คืนนี้ 14 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 20.00 น.เป็นต้นไปถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม 2566 อย่าลืมพาดชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์”  

โดย NARIT ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และเครือข่ายพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย (Amazing Dark Sky in Thailand) กว่า 30 แห่ง ทั่วประเทศ จัดงานท่องเที่ยวดูดาวชม "ฝนดาวตกเจมินิดส์" หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ คืน 14 - รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 เริ่มสังเกตได้เวลาประมาณ 20:00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า คาดมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดช่วงหลังเที่ยงคืน ประมาณ 120-150 ดวงต่อชั่วโมง ผู้สนใจสามารถติดตามชมฝนดาวเจมินิดส์ได้ด้วยตาเปล่า ในพื้นที่โล่ง มืดสนิท และปราศจากแสงสว่างรบกวน

ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 4 - 20 ธันวาคม ของทุกปี มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม สามารถรอชมปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มดาวคนคู่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 20:00 น. เป็นต้นไป ฝนดาวตกจะปรากฏให้เห็นเป็นลำแสงวาบพาดผ่านทั่วท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ดูได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท ซึ่งปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง

สถานที่ดูดาว ทั้ง 30 แห่ง ทั่วประเทศ ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย นับเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการสังเกตการณ์ฝนดาวตก เนื่องจากมีความพร้อมในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เช่น มีพื้นที่โล่งที่ไม่มีต้นไม้หรือวัตถุบดบังบริเวณขอบฟ้า มีการบริหารจัดการแสงสว่างที่ดี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะกับการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ

 

พิกัดชมฝนดาวตกเจมินิดส์

ฝนดาวตก 14 ธันวาคม 2566  คืนนี้อย่าลืมพลาดชมปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์”

 

ฝนดาวตก (Meteor showers)

  • เกิดจากการที่โลกโคจรตัดผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ในอวกาศ ที่เป็นเศษที่หลงเหลือจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย หรือเศษวัตถุที่ปล่อยออกมาจากดาวหาง โดยแรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษวัตถุเหล่านี้เข้ามา ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ ในช่วงเวลานี้จึงเกิดดาวตกบนท้องฟ้าในอัตราที่สูงกว่าปกติ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball ซึ่ง “ฝนดาวตก” จะแตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่วไป คือฝนดาวตกจะมีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ

  • ช่วงวันที่จะเกิด “ฝนดาวตก” นั้น จะเป็นช่วงเดียวกันในทุก ๆ ปี เนื่องจากเป็นจังหวะที่โลกโคจรผ่านสายธารสะเก็ดดาว จากดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยที่ทิ้งเศษฝุ่นไว้ตามแนววงโคจร แล้วแนววงโคจรของดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวตัดผ่านใกล้วงโคจรโลก นักดาราศาสตร์จะคาดการณ์จำนวนฝนดาวตกและทิศทางของฝนดาวตกจากข้อมูลการโคจรของแหล่งกำเนิดฝนดาวตกได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น
  • ช่วงเวลาที่วัตถุต้นกำเนิดโคจรผ่านเข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน : สำหรับฝนดาวตกชุดเดียวกัน หากเป็นปีที่วัตถุต้นกำเนิดเพิ่งโคจรเข้าใกล้ระบบสุริยะชั้นใน เศษฝุ่นที่ถูกทิ้งไว้ตามสายธารสะเก็ดดาวยังคงเกาะกลุ่มกันอยู่ ฝนดาวตกในปีนั้นมีโอกาสที่มีอัตราดาวตกมากกว่าปกติ แต่ถ้าวัตถุต้นกำเนิดโคจรผ่านวงโคจรโลกนานหลายปีแล้ว เศษฝุ่นจะกระจัดกระจายกันมากขึ้น ฝนดาวตกในปีนั้นก็จะค่อนข้างมีอัตราดาวตกน้อยกว่า
  •  ดวงจันทร์ : หากดวงจันทร์ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนในช่วงที่มีฝนดาวตก แสงจันทร์จะรบกวนจนสังเกตเห็นฝนดาวตกได้ยากขึ้น (โดยเฉพาะคืนวันเพ็ญ) ดังนั้น หากวันที่จะเกิดฝนดาวตกตรงกับช่วงประมาณวันเดือนดับ (ประมาณแรม 13 ค่ำ - ขึ้น 2 ค่ำ) จะเป็นจังหวะที่เอื้อต่อการสังเกตฝนดาวตกได้ดีขึ้น

ลักษณะของดาวตก

  • ดาวตกเกือบทั้งหมดจะเริ่มปรากฏให้เห็นที่ระดับความสูงประมาณ 96.5 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก ดาวตกลูกใหญ่บางส่วนสว่างกว่าดาวศุกร์ จนถึงขั้นสามารถเห็นได้ในตอนกลางวัน และได้ยินเสียงระเบิดจากระยะห่างไกลถึง 48 กิโลเมตรได้ ดาวตกที่เกิดการระเบิดระหว่างพุ่งฝ่าบรรยากาศโลก เรียกว่า “ลูกไฟ” (Fireball)
  • โดยเฉลี่ยแล้ว ดาวตกหลายลูกพุ่งฝ่าบรรยากาศโลกด้วยอัตราเร็วประมาณ 48,280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีอุณหภูมิสูงถึง 1,648 องศาเซลเซียส (ในช่วงที่ดาวตกปรากฏสว่างจ้า)
  • วัตถุที่เป็นดาวตกเกือบทั้งหมดนั้นมีขนาดเล็กมาก บ้างก็มีขนาดประมาณเม็ดทรายเพียงเท่านั้น ซึ่งเผาไหม้ไปหมดระหว่างที่อยู่ในบรรยากาศโลก ขณะที่วัตถุที่มีขนาดใหญ่จะหลงเหลือจากการเผาไหม้จนสามารถตกลงมาถึงพื้นโลกได้ เรียกว่า “อุกกาบาต” (Meteorite) ซึ่งค่อนข้างหาได้ยาก นักวิทยาศาสตร์ของทาง NASA ประมาณไว้ว่าในแต่ละวัน มีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นผิวโลกประมาณ 44 - 48.5 ตัน แต่พื้นที่ที่ตกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน และอุกกาบาตหินก็ดูค่อนข้างกลมกลืนกับหินบนโลก
  • การที่วัตถุที่กำลังพุ่งฝ่าบรรยากาศโลกลงมา (ช่วงที่เป็นดาวตก) จะแตกออกหรือไม่ ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น องค์ประกอบทางเคมี อัตราเร็ว และมุมในวิถีการพุ่ง ดาวตกที่พุ่งลงมาเร็วกว่าในมุมเฉียง จะเจอแรงต้านจนวัตถุถูกบิดรูปได้มากกว่า (หากวัตถุถูกบิดรูปจนแรงยึดเหนี่ยวของวัสดุทนไม่ไหว วัตถุดังกล่าวจะแตกออก)
  • ส่วนกรณีที่วัตถุที่พุ่งลงมาเป็นก้อนเหล็กนั้น จะต้านทานการบิดรูปจากแรงต้านในบรรยากาศได้ดีกว่าก้อนหิน แต่ก็ส่วนหนึ่งสามารถแตกตัวออกได้ เมื่อมาถึงบริเวณบรรยากาศโลกชั้นที่หนาแน่นขึ้น (ที่ระดับความสูงจากพื้นโลกประมาณ 8 - 11 กิโลเมตร)