"สทนช."รุกแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำชีตอนกลางลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

26 ก.ย. 2566 | 14:03 น.

"สทนช."รุกแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำชีตอนกลางลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝน พร้อมรับสถานการณ์เอลนีโญ ระบุมีพื้นที่รวม 12.85 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรับสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีการบริหารน้ำและผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางมีพื้นที่รวม 12.85 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และอุดรธานี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประสบปัญหาด้านน้ำหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ปัญหาการเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ปัญหาฝนทิ้งช่วงทุกปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรตกต่ำ 

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,454 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ปี ปัจจุบันมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 7.47 ล้านไร่ ขาดแคลนน้ำจำนวน 522 ล้าน ลบ.ม./ปี แบ่งเป็นน้ำด้านการเกษตร 519 ล้าน ลบ.ม./ปี และด้านอื่นๆ 3 ล้าน ลบ.ม./ปี 

นอกจากนี้ยังพบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เนื่องจากระบบประปาผิวดิน และบาดาลของชุมชน มีปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ ระบบผลิตประปาชำรุดเสียหายและการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ
 

ส่วนปัญหาด้านอุทกภัยเกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง อยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำชีและลำน้ำสาขาเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าความจุลำน้ำและมีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ หรือได้รับผลกระทบจากท้ายน้ำที่มีระดับสูงจนไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทัน มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 0.89 ล้านไร่

สทนช.รุกแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำชีตอนกลางลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม 292 ล้าน ลบ.ม./ปี และปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำชี 567 ล้าน ลบ.ม. รวม 859 ล้าน ลบ.ม. ความลึกน้ำท่วมเฉลี่ยประมาณ 1.20-1.76 ม. ยังรวมไปถึงปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ที่มีสาเหตุมาจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ น้ำเสียที่ปล่อยจากการทำการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี สทนช. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี สามารถแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ มีการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสร้างความมั่นคงด้านน้ำ

นายชยันต์ กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง จะมีแผนงานโครงการพัฒนาด้านน้ำทั้งหมดจำนวน 7,276 โครงการ มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,321 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.54 ล้านไร่ ด้านภัยแล้ง พื้นที่ชลประทาน 0.67 ล้านไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 0.67 ล้านไร่ และพื้นที่รับประโยชน์ด้านอุทกภัย 0.20 ล้านไร่


 

และมีพื้นที่ได้รับการบรรเทาปัญหาอุทกภัย 0.68 ล้านไร่ ประชาชน 531,774 ครัวเรือน และอื่น ๆ ได้แก่ มีระบบประปาหมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ มีแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคที่เพียงพอ ระบบนิเวศ ป่าต้นน้ำได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างเหมาะสม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ (ปี 2566-2580) โดยดำเนินการตามลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำในแต่ละด้าน

สทนช.รุกแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำชีตอนกลางลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

ขณะที่ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบันน้อยกว่าค่าปกติ 15% และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยกว่าค่าปกติ 8% สำหรับสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนลำปาวมีความจุเก็บกัก 1,980 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 2,021 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 102% และยังคงมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ปริมาณมาก ประกอบกับประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าในช่วงวันที่ 26 – 28 ก.ย. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณจีนใต้ตอนกลาง จะเคลื่อนเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่จึงทำให้เขื่อนลำปาวจะปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันไดจนถึงประมาณวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. (ปัจจุบันระบายอยู่ที่ 12.87 ล้าน ลบ.ม.)

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจึงได้ออกประกาศ ฉบับที่ 21/2566 วันที่ 25 ก.ย. 66 ให้เฝ้าระวังและเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำหลากบริเวณอ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ และอีก 4 อำเภอใน จ.อุบลราชธานี

สำหรับพื้นที่บริเวณจุดบรรจบลำน้ำพองกับลำน้ำชีในเขต ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยรุณแรงในปี 2554, 2560, 2564 และ 2565 โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2565 พื้นที่ ต.โพนงาม ประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กว่า 95% ของตำบล และมีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน สาเหตุมาจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และทางตอนบนของลำน้ำชี

รวมทั้งลำน้ำชีบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นคอขวดทำให้การระบายน้ำได้ช้า โดย อบต.โพนงาม ได้เสนอแนวทางการแก้ไขคือในระยะสั้นบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเตรียมเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสิ่งของการอำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งนักเรียนกับประชาชนที่เดินทางไปทำงาน การจัดเตรียมพื้นที่อพยพสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์ เป็นต้น 

ส่วนในระยะยาวขอให้พิจารณาประกาศพื้นที่ตำบลโพนงามและใกล้เคียงเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง พิจารณายกระดับถนนสาย บ.โพนงาม ม.12 ถึง บ.ดอนจำปา ม.7 ระยะทาง 8 กม. ให้สูงขึ้นเป็นเส้นทางสัญจรในฤดูน้ำหลากและปรับปรุงท่อระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้เพียงพอ ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ-ท่อส่งน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหาย และขุดลอกหนองน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร หรือนาปรังทดแทน และอุปโภค-บริโภคประโยชน์ในฤดูแล้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการชลประทานมหาสารคาม พบว่า จังหวัดมหาสารคามมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ จำนวน 17 แห่ง ความจุ รวม 81.42 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวม 51.76 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63.50 % มีปริมาณน้ำใช้การได้ 43 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52.80 %

ขณะที่สถานการณ์น้ำของแม่น้ำชีและอ่างเก็บน้ำที่สำคัญในลุ่มน้ำชีบริเวณเขื่อนวังยาง ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีดั เขื่อนมหาสารคาม อ.โกสุมพิสัยมีระดับเหนือน้ำ +146.90 (ม.รทก.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.60 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.01 ม. มีความจุเก็บกัก 24.00 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ  24.50 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102 % มีการระบายน้ำ 359.5 ลบ.ม./วินาที

สถานีวัดระดับน้ำ E91A อ.โกสุมพิสัย มีระดับเหนือน้ำ +145.17 (ม.รทก.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.53 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.96 ม. มีอัตราการไหล 349.60 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง  

สถานีวัดระดับน้ำ E8A (อ.เมืองมหาสารคาม) มีระดับเหนือน้ำ +140.66 (ม.รทก.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.15 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.58 ม. มีอัตราการไหล 437.28 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง  

เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ มีระดับเหนือน้ำ +138.01 (ม.รทก.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.99 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.29 ม. มีความจุเก็บกัก 33.59 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 45.84 ล้าน ลบ.ม. หรือ 136.5% มีการแขวนบานทั้ง 6 บานเพื่อระบายน้ำ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง สำหรับเขื่อนวังยางนั้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลางมีแผนงานการปรับปรุงซ่อมแซมบริเวณเขื่อน การปรับปรุงทางน้ำและบานประตู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก

เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำในเขื่อน 81.20 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49.5% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 163.75 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 44 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34.77% ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 32 ล้าน ลบ.ม. มี ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 0.25 ล้าน ลบ.ม. และยังสามารถรับน้ำได้อีก 82.5 ล้าน ลบ.ม. หรือ 50.5%

เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำในเขื่อน 1,390 ล้าน ลบ.ม. หรือ 57% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 2,431 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 809 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43 %  ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 400 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 29.5 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำวันละ 0.80 ล้าน ลบ.ม. และยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,040.74 ล้าน ลบ.ม หรือ 42.81%

เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อน 2,021 ล้าน ลบ.ม. หรือ 102% ของปริมาณความจุอ่างที่ระดับน้ำเก็บกัก 1980 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำเกินความจุอ่าง 41 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2.07 % มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,921 ล้าน ลบ.ม. หรือ 97% ซึ่งมากกว่าปี 2565 จำนวน 41 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 20.33 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำวันละ 12.87 ล้าน ลบ.ม.