ประกันสังคม ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย “โกดังพลุนราธิวาสระเบิด”

30 ก.ค. 2566 | 06:59 น.

สำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย “โกดังพลุนราธิวาสระเบิด”ดูแลลูกจ้าง และผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่

จากเหตุระเบิดบริเวณ โกดังเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ บริเวณตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน และร้านค้าในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 121 ราย และเสียชีวิตจำนวน 12 ราย 

(30 ก.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ตนได้รับรายงานเหตุการณ์ด้วยความห่วงใย และผมขอแสดงความเสียใจกับทายาทของผู้เสียชีวิต 

พร้อมมอบหมาย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งช่วยเหลือลูกจ้าง และผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยด่วน

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ นายอาณัติ ศรีจำปา นิติกรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนประกันสังคมจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่พร้อมหน่วยงานราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุโกดังเก็บประทัดระเบิด เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย 

จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเป็นโกดังที่เก็บพลุ ดอกไม้ไฟ ของร้านวิรวัฒน์พาณิชย์ ตั้งอยู่บริเวณหลังตลาดมูโนะตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จากแรงระเบิดก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงเป็นวงกว้าง บ้านเรือนเสียหายเกือบ 300 หลังคาเรือน 

และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 121 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จำนวน 12 ราย จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบผู้เสียชีวิตเป็น ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย

  • นางปารีดะ สาและ อายุ 57 ปี ทางเลือกที่ 1
  • นายเด่น ดาโอ๊ะ อายุ 63 ปี ทางเลือกที่ 1
  • นางจันทร์นิสา ดาโอ๊ะ อายุ 28 ปี ทางเลือกที่ 2

โดยขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนราธิวาส อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล และสถานะการเป็นผู้ประกันตนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อดำเนินการให้ได้รับการดูแลด้านการรักษาพยาบาลกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย และทายาทผู้เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไป 

ทั้งนี้ทาง สำนักงานประกันสังคม พร้อมให้การช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันสังคม และเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด