"วราวุธ" แจ้งเอฟซี "พลายประตูผา" คลายกังวลส่งทีมแพทย์บินศรีลังกา

05 ก.ค. 2566 | 11:10 น.

"วราวุธ" แจ้งข่าวดีเอฟซี "พลายประตูผา" คลายกังวลส่งทีมแพทย์บินพร้อม "กัญจนา" ไปศรีลังกาต้นเดือน ก.ย.นี้ พร้อมเสนอลงนามความร่วมมือไทย-ศรีลังกาถ่ายทอดเทคนิคสัตวแพทย์รักษาช้างแก้ปัญหาระยะยาว

5 กรกฎาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ขณะนี้กลุ่มแฟนคลับ พลายศักดิ์สุรินทร์ และบรรดาคนรักช้าง มีความห่วงใย ช้างอีก 2 เชือกของไทย ที่ยังอยู่ที่ประเทศศรีลังกา และมีการสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากต่อความเป็นไปได้ที่จะนำกลับมาประเทศไทยด้วยหรือไม่ว่า 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจจะส่งทีมสัตวแพทย์ไปพร้อมกับ นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในต้นเดือนกันยายนนี้

เพื่อให้ดูแนวทางความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานของไทยและหน่วยงานของศรีลังกาในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลช้างเพราะศรีลังกาเป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยงและช้างป่าอยู่เป็นจำนวนมาก 

นายวราวุธ กล่าวว่า สอดคล้องกับการที่มีคณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกาซึ่งเป็นเมืองที่ "พลายประตูผา" อยู่ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแสดงเจตจำนงว่า มีความพร้อมที่จะช่วยดูแลและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ดังนั้น จากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกาจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น 

สำหรับประเด็นของ "พลายประตูผา" เป็นเรื่องที่แตกต่างจาก "พลายศักดิ์สุรินทร์" เพราะพลายศักดิ์สุรินทร์อายุเพียง 30 ปี ยังหนุ่ม ขณะที่ "พลายประตูผา" อายุเกือบ 50 ปีแล้วซึ่งสัตวแพทย์มีความเห็นว่า การเคลื่อนย้ายพลายประตูผาข้ามประเทศมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายกับตัวช้างเอง 

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ ให้ "พลายประตูผา" ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืนด้วยการทำโครงการความร่วมมือกันระหว่าง ไทยกับศรีลังกาในการแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากรเกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้างซึ่งการทำเช่นนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการดูแลช้างในระยะยาว ในประเทศศรีลังกาได้ และเชื่อว่า จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยคลายความห่วงกังวลต่อช้างไทยที่ยังอยู่ในศรีลังกาได้ 

สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าว อาจมีการทำ MOU ขึ้นซึ่งต้องให้กรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เป็นผู้ลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศศรีลังกา เพื่อทำความตกลงแลกเปลี่ยน เทคโนโลยี และความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลช้าง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้การดูแลช้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องยาวนาน" นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ "พลายศรีณรงค์" นั้นจากการที่นางสาวกัญจนาได้ไปเยี่ยมมาด้วยตัวเองนั้นก็ยังเห็นว่า มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพปกติดีอยู่ และการเดินทางไปศรีลังกาในต้นเดือนกันยายนนี้ นางสาวกัญจนาก็จะไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์อีกครั้ง

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการกลับเมืองไทยของพลายศักดิ์สุรินทร์ และ รมว.ทส. ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โดยมีการรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นที่ปลื้มปิติของพวกเราชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทีมงานทุกคน และปวงชนชาวไทย และต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติและช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงจนทุกอย่างราบรื่น พร้อมกันนี้ตนได้รายงานนายกฯ ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เช่นนี้ ทำให้ความกังวลเรื่องที่จะต้องส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับศรีลังกาหรือไม่นั้นหายไป ส่วนทีมแพทย์ก็จะรักษาอาการบาดเจ็บของพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างเต็มที่