คุณธรรมคนไทยวัยแรงงาน เริ่มถอยหลัง ชี้ขาดวินัย-ความรับผิดชอบหนัก

28 พ.ค. 2566 | 05:47 น.

สศช. เปิดสถานการณ์คุณธรรม ปี 2565 พบคุณธรรมของคนวัยแรงงานลดลง โดยเฉพาะวินัยความรับผิดชอบ น่าห่วงพบปัญหา ทั้ง การปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานของสังคม การควบคุมตนเอง และการยืนหยัดในความถูกต้อง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน สถานการณ์ด้านสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2566 พร้อมทั้งนำเสนอบทความเรื่อง คุณธรรมในสังคมไทยพบว่า จากข้อมูลของศูนย์คุณธรรมซึ่งทำการสำรวจ "สถานการณ์คุณธรรม" ในปี 2565 ที่เป็นการสำรวจครบทั้ง 3 ช่วงวัย เป็นครั้งแรกของประเทศ พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ มีคุณธรรมในระดับพอใช้ 

ทั้งนี้พบว่ามีสัดส่วน 43.5% ของกลุ่มตัวอย่างมีคุณธรรมระดับพอใช้ อีก 36.9% มีคุณธรรมน้อยและควรปรับปรุง ที่เหลือ 19.6% เป็นกลุ่มที่มีคุณธรรมในระดับมากถึงมากที่สุด โดยคนไทยมีคุณธรรมในด้านความกตัญญูมากที่สุด และด้านที่ต่ำที่สุดคือความพอเพียง 

โดยกว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่าง มีคะแนนคุณธรรมด้านความกตัญญูในระดับมากถึงมากที่สุด และไม่เพียงแต่เป็นความกตัญญูต่อพ่อแม่ หรือ ผู้มีพระคุณ แต่ยังรวมถึงการแสดงออกในทางที่ดี ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น และทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอีกด้วย ขณะที่ 65.3% ของกลุ่มตัวอย่างมีความพอเพียงในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และ 51.1% มีคุณธรรมในด้านความสุจริตน้อย และควรปรับปรุง 

 

การสำรวจ "สถานการณ์คุณธรรม" ในปี 2565

คุณธรรมวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง

จากการสำรวจยังพบข้อมูลน่าตกใจ คือ ระดับคุณธรรมของคนวัยแรงงานยังมีแนวโน้มลดลง โดยกลุ่ม 25 - 40 ปี มีคะแนน เฉลี่ยลดลงจากระดับ 4.63 ในปี 2564 เหลือในระดับ 4.40 ในปี 2565 และลดลงทุกด้าน โดยเฉพาะวินัยความรับผิดชอบที่มีคะแนน ลดลงเหลือเพียง ระดับ 4.0 

โดยประเด็นคุณธรรมที่มีคะแนนระดับน้อย คือ การยอมรับและปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานของสังคม การควบคุมตนเอง การตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตน และการยืนหยัดในความถูกต้อง ซึ่งคุณธรรมของกลุ่มวัยนี้ มีความสำคัญเนื่องจากวัยแรงงานเป็นช่วงวัยที่ต้องรับผิดชอบวัยอื่น ๆ ทำให้มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และสร้างวิถีชีวิต แห่งคุณธรรมของเด็กในอนาคตด้วย

 

การสำรวจ "สถานการณ์คุณธรรม" ในปี 2565

ทั้งนี้การสำรวจสถานการณ์คุณธรรม ยังมีข้อที่น่าสนใจ ดังนี้

1.ต่างวัย ต่างปัญหา 

เมื่อแบ่งกลุ่มอายุของกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 ช่วง คือ 13 - 24 ปี 25 - 40 ปี และ 41 ปีขึ้นไป พบว่า แต่ละช่วงวัยมีปัญหาแตกต่างกัน กล่าวคือ ช่วงอายุ 13 - 24 ปี มีปัญหาด้านความสุจริต มากที่สุด ส่วนกลุ่มอายุ 25 - 40 ปี มีปัญหาด้านวินัย ความรับผิดชอบ ขณะที่กลุ่มวัย 41 ปีขึ้นไป มีปัญหาใน ด้านความพอเพียงมากที่สุด

2. การศึกษาสูงไม่ได้สะท้อนถึงระดับคุณธรรม 

พบว่า ผู้จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีของกลุ่มอายุ 25 - 40 ปี มีสัดส่วนของผู้ที่มีคุณธรรมระดับมากและมากที่สุด 23.4% มากกว่ากลุ่มผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่มีสัดส่วน 17.8% เท่านั้น

3. ปัญหาคุณธรรมแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน 

นอกจากระดับคุณธรรมของแต่ละช่วงวัยจะมี ความแตกต่างกันแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณธรรมในแต่ละภูมิภาคยังแตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อพิจารณา คุณธรรมของกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 25 - 40 ปี ใน 5 มิติที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีชี้วัดคุณธรรมเป็นรายภูมิภาค พบว่าภาคตะวันออกและภาคตะวันตกมีคะแนนด้านความพอเพียงต่ำที่สุด 

ส่วนภาคเหนือมีความเปราะบางในด้านจิตสาธารณะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง มีประเด็นปัญหาในด้านความสุจริต ความแตกต่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาคุณธรรมในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่แตกต่างกัน

4.คุณธรรมและรายได้ไม่สัมพันธ์กัน 

เมื่อพิจารณากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี การจัดเก็บข้อมูลด้านรายได้ พบว่า กลุ่มที่มีระดับคุณธรรมในระดับมากที่สุดกลับมีค่าเฉลี่ยของรายได้ต่ำที่สุด ขณะที่ กลุ่มที่มีคุณธรรมในระดับที่ควรปรับปรุง กลับมีค่าเฉลี่ยของรายได้สูงเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รายได้กับ ระดับคุณธรรมอาจไม่สัมพันธ์กัน

 

การสำรวจ "สถานการณ์คุณธรรม" ในปี 2565

 

ต้นทุนชีวิตอาจส่งผลต่อระดับคุณธรรม

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณธรรม พบว่า ต้นทุนชีวิตอาจส่งผลต่อระดับคุณธรรม จากการศึกษาของ Benson (2004) และ Scales and Roehlkepartain (2003) พบว่า สภาพแวดล้อมเป็น สิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการมีคุณธรรมจริยธรรมของบุคคล 

ในกรณีของไทยจากข้อมูลของศูนย์คุณธรรม พบสถานการณ์ในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อพิจารณาระดับคุณธรรมกับสภาพแวดล้อมที่สะท้อนจากต้นทุนชีวิต 18 พบว่า ระดับต้นทุนชีวิตในภาพรวมอยู่ที่ 3.12 ซึ่งด้านที่สูงที่สุดอยู่ที่พลังครอบครัว และต่ำที่สุดคือพลังชุมชน 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาระดับคะแนนคุณธรรมและต้นทุนชีวิต พบว่าผู้ที่มีต้นทุนชีวิตที่สูงจะมีคะแนนคุณธรรมสูงไปด้วย และ คะแนนคุณธรรมจะเพิ่มขึ้นตามระดับต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้น โดยกลุ่มที่มีต้นทุนชีวิตน้อย มีค่าเฉลี่ยคุณธรรมเพียง 3.07 หรืออยู่ในระดับควรปรับปรุง ขณะที่ผู้ที่มีต้นทุนชีวิตในระดับมากที่สุดมีคะแนนคุณธรรมเฉลี่ยสูงถึง 4.61 สะท้อนให้ เห็นว่าการมีต้นทุนชีวิตอาจช่วยให้คนมีคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น 

ขณะที่ เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีระดับคุณธรรมที่ควรปรับปรุง (ระดับต่ำที่สุด) พบว่า กลุ่มนี้มีค่าเฉลี่ยต่ำในทุกด้าน โดยเฉพาะพลังเพื่อนและกิจกรรม ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเพื่อน เป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา สันทนาการต่าง ๆ และพลังชุมชน เป็นสภาพของชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่นและปลอดภัย ทุนทั้ง 2 มีคะแนนในระดับต่ำที่สุด

นอกจากนี้ หากพิจารณากลุ่มเด็กและเยาวชน (อายุ 13 - 24 ปี) ซึ่งจะเป็นกำลังแรงงานรุ่นใหม่ในอนาคต ยังพบด้วยว่าทุนชีวิตในด้านครอบครัวและชุมชนมีระดับที่ไม่สูงนัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบัน ครอบครัวและชุมชน และเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการมีคุณธรรมในอนาคต

 

การสำรวจ "สถานการณ์คุณธรรม" ในปี 2565