กรมอุตุฯอัพเดทเส้นทางพายุไต้ฝุ่น "มาวาร์"
กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเส้นทางพายุไต้ฝุ่น "มาวาร์" คาดเข้าใกล้เกาะลูซอล ฟิลิปปินส์วันที่ 28-30 พ.ค.พายุไม่กระทบไทยโดยตรง แต่จะดึงดูดมรสุมกำลังแรง
วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดทเส้นทางพายุไต้ฝุ่น "มาวาร์ (MAWAR)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (ข้อมูลจาก RSMC โตเกียว ECMWF และ JTWC ) พายุนี้ยังแรง เนื่องจากยังอยู่ในทะเล และอุณหภูมิน้ำทะเลในระยะนี้อุ่นขึ้น โดยพายุกำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ (ห่างจากกรุงมนิลาประมาณ 2000 กม.) คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้บริเวณหัวเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปินส์ ราววันที่ 28 -30 พ.ค.66 และจะเคลื่อนตัวโค้งกลับไปทางเกาะไต้หวันต่อไป พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เพียงแต่จะดึงดูดให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ใช้เป็นแนวทางในการติดตามและตัดสินใจ)
อนึ่งเมื่อเวลา เวลา 05.00 น. ของวันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 เตือนเรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรง บริเวณทะเลอันดามัน มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 27 - 30 พฤษภาคม 2566 โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 27 พฤษภาคม 2566
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก: จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้:จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 28 พฤษภาคม 2566
- ภาคเหนือ: จังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง:จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก:จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 29 - 30 พฤษภาคม 2566
- ภาคเหนือ:จังหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดชัยภูมิ และนครราชสีมา
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก:จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27 - 30 พฤษภาคม 2566 นี้ไว้ด้วย