เพื่อไทย -ก้าวไกล ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาระอุ

25 พ.ค. 2566 | 15:10 น.

ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาระอุ เพื่อไทย ประกาศชัด "ประธานสภา" ควรผลักดันทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่วาระของพรรคใดพรรคหนึ่ง ย้ำชนะมาด้วยกัน ควรทำงานร่วมกัน เลี่ยงใช้มวลชนกดดัน ด้านก้าวไกล ยืนยันจะพยายามผลักดัน 300 นโยบายให้สำเร็จ

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทย ได้ทวิตข้อความเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภา ลงในทวิตเตอร์ "พรรคเพื่อไทย Pheu Thai Party"โดยเนื้อหาใจความมีดังต่อไปนี้ 

 

ประธานสภา ควรเปิดทางผลักดัน 'ทุกนโยบาย' ของ 'พรรคร่วมรัฐบาล'  ให้สำเร็จ  ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น 

ปัจจุบันที่เป็น 'รัฐบาลผสม' มีภารกิจสำคัญใน MOU ร่วมกัน ไม่ว่าประธานสภาจะเป็นใคร มาจากพรรคใด ก็ต้องทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย  

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งจะคำนึงถึงความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก

หากจะยกกรณีที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ชนะโหวตทั้งนายกฯ และประธานสภามาโดยตลอด  ไม่มีพรรคอันดับสองได้  นั่นเป็นเพราะเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเด็ดขาด  ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฏร จึงชนะโหวตด้วยเสียงของ ส.ส.และผู้สนับสนุน 

ในกรณีนี้ เราชนะมาด้วยกัน ก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน  แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
 

เพื่อไทย ฟาด ก้าวไกล ปมเก้าอี้ประธานสภา เลี่ยงใช้มวลชนมากดดัน

อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 และ 119 ระบุว่า  ประธานสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง โดยเป็นประธานของ ส.ส.ทั้งสภา ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลด้วย

ทางรัฐธรรมนูญและประเพณีปฏิบัติ  ประธานสภา ต้องวางตนเป็นกลาง เป็นประธานของฝ่ายค้านและรัฐบาล รัฐธรรมนูญมาตรา116 จึงบัญญัติว่าประธานและรองประธานสภาผู้แทนจะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองในเวลาเดียวกันไม่ได้  

ประธานสภาจึงต้องผลักดันญัตติใดๆไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือประชาชนเข้าสู่สภา ไม่เลือกปฏิบัติ และหาทางลดอุปสรรคทั้งหลาย ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา

การยกเหตุผลว่าจำเป็นต้องมีประธานสภาเพื่อไว้ผลักดันนโยบายของพรรคแกนนำ  จึงเป็นความคิดผิดมาตั้งแต่ต้น เท่ากับวางบทบาทให้ประธานสภาไม่เป็นกลางมาแต่ต้น
 

 

เพื่อไทย ฟาด ก้าวไกล ปมเก้าอี้ประธานสภา เลี่ยงใช้มวลชนมากดดัน

 

ขณะที่ทางฟากฝั่งพรรคก้าวไกล ก็ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า  "45 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไกลพร้อมผลักดันในสภา "

 

ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรายืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาล จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลให้สำเร็จ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้มีการเมืองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีสังคมที่เท่าเทียม เศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นธรรม มีระบบการบริหารราชการที่โปร่งใส มีนิติรัฐ นิติธรรม

 

ช่องทางในการผลักดัน 300 นโยบาย นอกจากอาศัย ‘กลไกอำนาจบริหาร’ ผ่านการบรรจุนโยบายเข้าไปในวาระ ‘ร่วม’ หรือ MOU จัดตั้งรัฐบาลให้ได้เยอะที่สุด เพื่อผลักดันนโยบายผ่านกระทรวงต่างๆ (ซึ่งจนถึงตอนนี้ ต้องรอการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งว่าพรรคไหนจะรับผิดชอบกระทรวงใด และวาระของแต่ละกระทรวงจะมีอะไรบ้าง)

 

อีกช่องทางหนึ่งซึ่งพรรคก้าวไกลพูดมาตลอดว่าจะใช้ ไม่ว่าเราจะได้เป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน คือการผลักดันนโยบายผ่าน ‘กลไกนิติบัญญัติ’ ของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค โดยเรามีร่างกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับ เตรียมยื่นต่อสภาฯ แบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

  • กฎหมายการเมือง 11 ฉบับ
  • กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ
  • กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ
  • กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ
  • กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ
  • กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ
  • กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ
  • กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ

45 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไกลพร้อมผลักดันในสภา