"แชร์แม่มณี" คุกอ่วม 12,640 ปี ตุ๋นเหยื่อ 2,500 ราย เสียหาย 1,300 ล้าน

10 พ.ค. 2566 | 13:09 น.

ศาลอาญาตัดสินจำคุกคดี "แชร์แม่มณี" 12,640 ปี แต่จำคุกจริง 20 ปี ตามกฎหมาย หลอกลงทุนออมเงิน ในผลตอบแทนมหาศาล เหยื่อกว่า 2,500 ราย เสียหายกว่า 1,300 ล้านบาท ส่วนจำเลยอื่นยกฟ้อง

วันนี้ (10 พ.ค.) ศาลอาญา ถนนรัชดาพิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีแชร์แม่มณี หมายเลขดำ อ.167/2563 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.วันทนีย์ หรือเดียร์ ทิพย์ประเวช, นายเมธี หรือ บอส ชิณภา สองสามีภรรยา

น.ส.วันทนีย์ หรือเดียร์ ทิพย์ประเวช

รวมถึงนายปิยะ หรือ เป้ คีรีสุวรรณกุล, น.ส.พรสวรรค์ หรือ ฝ้าย ภูอินอ้อย, น.ส.ธวัลรัตน์ ทิพย์ประเวช, มารดา ของ น.ส.วันทนีย์ จำเลยที่ 1, น.ส.วิไลวรรณ หรือ มิ้น หงษ์ประชาทรัพย์, น.ส.นิตยา หรือ โบว์ พินนอก, นายบริภัทร เข็มรัตน์ ได้ประกัน และ นายปิยะเศรษฐ์ ธิโสภา ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงิน อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 1-2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยอื่นให้การปฏิเสธ

อัยการฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 มี.ค. 2562 - 30 ต.ค. 2563 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งเก้าได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระ โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เจตนาทุจริต หรือโดยการหลอกลวง ได้บังอาจร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเฟซบุ๊ก (FACEBOOK) ประกาศให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมออมเงิน หรือร่วมลงทุนกับจำเลย โดยจะได้ผลตอบแทนมากกว่าปกติเป็นพิเศษ

โดยมีแผนการตลาด หรือรูปแบบการลงทุนจัดแบ่งออกเป็นวง จำนวนการลงทุนวงละ 1,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 930 บาทต่อหนึ่งวง เมื่อครบกำหนด 9 เดือน นับแต่วันที่ลงทุน หรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่แจ้ง โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนกลับไปจำนวนวงละ 1,930 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก ได้เปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะสั้นอีกหลายระบบหลายครั้ง ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนเป็นเท็จ

ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก ไม่ได้จัดให้มีการออมเงิน หรือร่วมลงทุนโดยได้รับผลตอบแทนมากกว่าปกติดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นอุบายให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงเท่านั้น จนเกิดความเสียหายจำนวน 2,533 ราย รวมทั้งสิ้น 1,376,215,359 บาท โดยให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ตั้งแต่อัตราร้อยละ 1,116 ถึงร้อยละ 3,040.45 ต่อปี อันเป็นเท็จ ซึ่งการกู้ยืมเงินตามกฎหมาย ดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมาย

จำเลยที่ 1-2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยอื่นให้การปฏิเสธ ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าฝ่ายโจทก์มีผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1-2 ร่วมกันมีพฤติการณ์โฆษณาหลอกลวงประชาชน และผู้เสียหาย จำนวนมาก ให้มาร่วมลงทุน โดยโอนเงินผ่าบัญชีธนาคารจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 3-9 เป็นลูกจ้างของจำเลย ไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิด

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำนวน 2,528 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 12,640 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5,056 ปี กับ 15,168 เดือน (โทษบางอย่างนับเป็นเดือน)

ทั้งนี้ตามกฎหมายคงจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี จึงจำคุกจำเลยที่ 1-2 ไว้คนละ 20 ปี และให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 3-9 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง