"วันจักรี" 6 เมษายน ทำความรู้จัก วันสำคัญ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

05 เม.ย. 2566 | 22:43 น.

"วันจักรี" 6 เมษายน ทำความรู้จัก วันสำคัญของ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กษัตริย์ผู้ทรงรวบรวมแผ่นดินไทยให้เป็นปึกแผ่น อีกครั้ง

“วันจักรี” ซึ่งตรงกับ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีเป็นวันสำคัญที่พสกนิกรชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง “ราชวงศ์จักรี” (วันคล้ายวันปราบดาภิเษก) และรวบรวมแผ่นดินไทยให้เป็นปึกแผ่น เริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี

กำเนิด กรุงเทพมหานคร วัดพระแก้ว 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ทรงฟื้นฟูการพระศาสนา พระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งของพระองค์คือ ทรงสร้างพระนคร ป้อม ปราสาทราชมณเฑียร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระนคร พระราชทานนามพระนครที่สร้างใหม่นี้ว่า

“กรุงเทพ มหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”


ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็น กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม โดยพระเจ้าแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน มี 10 รัชกาล รวมระยะเวลาแล้วกว่า 240 ปี

วันจักรี

พระบรมรูป พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

พระบรมรูป พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ให้หล่อขึ้นพร้อมกัน 4 พระองค์ คือ 

  • พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
  • พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
  • พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการกราบถวายบังคมทูลปีละ 1 ครั้ง แต่ยังมิได้กำหนดเรียกว่า วันจักรี

ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานร่วมกับพระมหากษัตริย์ทั้ง 4 รัชกาล ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ 5 รัชกาล จากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดรเมื่อ พ.ศ. 2461

ใน พ.ศ. 2470 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร และทรงมีพระราชดำริสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร เพื่อเป็นที่ระลึกในการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปี 2475

ปราสาทพระเทพบิดร

กำหนด "วันจักรี"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด รัชกาลที่ 6 ให้มีพระราชพิธีถวายบังคม พระบรมรูปในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี และโปรดฯ ให้เรียกวันนี้ว่า “วันจักรี” นับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 เป็นต้นมา นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปได้ 

ในปี พ.ศ. 2461 นั้นมีงานพระราชพิธีเป็นเวลา 2 วัน ประชาชนทั่วไปจะได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2461 แต่ในปีต่อ ๆ มา โปรดให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมในวันที่ 6 เมษายน อันถือเป็นวันที่ตรงกับวันจักรี

ในปี พ.ศ. 2462 ทางราชการกำหนดให้วันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นวันสำคัญ และเป็นวันหยุดราชการ และมีการกำหนดให้มีพิธีถวายบังคม วางพานพุ่มดอกไม้หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และเข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปหล่อบูรพมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีทั้ง 8 พระองค์ในปราสาทพระเทพบิดร เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทุกพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย

ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช”

คณะรัฐมนตรีมีมติให้ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525 มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่27 เมษายน 2525 ให้เปลี่ยนชื่อการเรียกวันที่ 6 เมษายนของทุกปีจาก "วันจักรี" เป็น "วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์ , สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย