“ม.มหิดล”เปิดผลวิจัยขึ้นภาษีน้ำตาล รัฐประหยัดงบรักษาโรคกว่า 121 ล้าน

01 เม.ย. 2566 | 02:12 น.

“ม.มหิดล”เปิดผลวิจัยขึ้นภาษีน้ำตาล รัฐประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้กว่า 121 ล้านบาท ขณะที่สุขภาวะตลอดชีพของประชากรเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อคน

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม  กรรมการสมาคมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และผู้จัดการโครงการเครื่อข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวถึงความคืบหน้าการเก็บภาษีน้ำตาล เฟส 3 ในเดือนเมษายน 2566 ว่า  ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณรัฐบาลที่จริงจังเก็บภาษีน้ำตาล และหากรัฐบาลเก็บภาษีน้ำตาลตามขั้นตอนจะทำให้แนวโน้มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการทางภาษีแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็ทำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลลดลง ซึ่งได้ผลดีต่อสุขภาพ  

ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ สนับสนุนงานวิจัยเรื่องมาตรการภาษีกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผลงานวิจัยที่ออกมาก็ชี้ชัดว่า ตั้งแต่ปี 2561 เริ่มจัดเก็บภาษีความหวาน หรือภาษีน้ำตาลช่วงที่ 1  จนปี 2562 จัดเก็บภาษีความหวานช่วงที่ 2  พบว่า ภาพรวมรายได้ภาษีของประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 และแม้ว่า การขึ้นภาษีจะไม่มีผลต่อราคาขายปลีกในปีแรกๆ แต่มาตรการภาษีก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวโดยปรับสูตรเครื่องดื่มให้มีน้ำตาลเข้าใกล้ 6 กรัม การบริโภคน้ำตาลทางอ้อมของไทยลดลงในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร และผลิตภัณฑ์นม  นี่คืองานวิจัยที่ตอกย้ำความสำเร็จของมาตรการภาษี

ทพญ.ปิยะดา กล่าวถึงการใช้นโยบายการคลังเพื่อเก็บภาษีสินค้าเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลในปริมาณสูง  ซึ่ง มาตรการภาษีและราคา เป็นหนึ่งมาตรการที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ได้ผลดีในการจัดการปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีความคุ้นทุน มีต้นทุนต่ำ และสามารถขยายผลได้

ขณะที่ ผศ.ดร.พจนา หันจางสิทธิ์ นักวิจัย จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการศึกษาการคาดประมาณผลกระทบทางสุขภาพจากมาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในประเทศไทยว่า ไทยเริ่มจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูงเกินกว่าระดับที่กรมสรรพสามิตกำหนด มีผลบังคับใช้ในปี  2560 

การศึกษาได้ลงไปดูข้อมูลการเก็บภาษีที่แบ่งออกเป็น 4 ระยะ  โดยระยะที่ 2 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เพื่อดูว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องเยอะที่สุดจากการที่มีดัชนีมวลกายสูง (BMI) สูง ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เมื่อมีการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ภาวะโรคเหล่านั้นเป็นอย่างไร

ผศ.ดร.พจนา  กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทยถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็น 3.2 แสนคนต่อปี โดยร้อยละ 55 เสียชีวิตที่อายุน้อยกว่า 70 ปี 

จากการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการศึกษา พบว่า  หากขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลง จะสามารถลดอัตราอุบัติการณ์ หรือเคสเกิดใหม่ได้ 

“ผลการศึกษา คาดประมาณจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ป้องกันได้ แยกแต่ละโรค เมื่อเทียบกับการมีการเก็บภาษี และไม่มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ณ ปี 2579 สามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ 21,000 คน โรคหัวใจขาดเลือด 2,000 คน โรคหลอดเลือดสมอง 1,100 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง โรคเบาหวาน 620 คน โรคหัวใจขาดเลือด 500 คนโรคหลอดเลือดสมอง 130 คน”

นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ยืนยันว่า งานวิจัยนี้ยังพบอีกว่า การเก็บภาษีน้ำตาล  รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีในการรักษาโรคได้ถึง 121.4 ล้านบาท ขณะที่ปีสุขภาวะตลอดชีพของประชากรจะเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อคน คือปีสุขภาวะที่ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่เป็นโรค

ผศ.ดร.พจนา  กล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้วยว่า การเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงให้ถึงรอบที่ 4 หากกรมสรรพสามิต ทำตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้ งานวิจัยนี้ได้ฉายภาพไปข้างหน้า คาดการประมาณผลที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษี 

พบว่า หากรัฐจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เต็มรูปแบบจะมีรายได้ใน 25 ปีแรก (พ.ศ. 2562- 2587) ถึง 830,000 ล้านบาท ทั้งหมดจะส่งผลให้ผู้มีภาวะโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้อลดลง 

อีกทั้งประเทศไทยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรเครื่องดื่มที่ลดปริมาณน้ำตาลลง 25% หรือ 50% จะสามารถลดจำนวนผู้มีภาวะโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องได้มากยิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมาการเก็บภาษีระยะ ที่ 1 และระยะที่ 2 แทบไม่มีผลเรื่องของราคาสินค้าเลย ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำเรื่องการใช้มาตรการทางภาษี การเก็บภาษีน้ำตาล เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือสุขภาพประชาชนทางหนึ่ง แถมรัฐยังมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย `WIN-WIN’ ทั้งคู่ 

ประเทศไทยรัฐบาลอาจห่วงภาคอุตสาหกรรม จึงค่อยๆ เก็บภาษี แตกต่างจากบางประเทศใช้มาตรการทางภาษีที่เข้ม เช่น อังกฤษ  จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดน้ำตาลลง”  

สอดคล้องกับ รศ. นพ. เพชร รอดอารีย์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวถึงการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากๆ  จะทำให้คนไทยติดหวาน มีความรู้สึกฟิน มีความสุข ได้ของหวานจะชื่นใจ และก็จะอยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็มีหลักฐานชัดเจนหากเราบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลทำให้อ้วนขึ้น และจะติดหวานด้วย

“ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีการเก็บภาษีน้ำตาล โดยเดือนเมษายนนี้ เข้าสู่การเก็บภาษีน้ำตาลระยะที่ 3 ผลที่ผ่านมาทำให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล (Zero Sugar)  สังคนไทยได้เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพในท้องตลาดมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิด norm หรือเป็นภาวะปกติของสังคมไทยที่ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล อีกทั้งกระแสความรับรู้ของประชาชนก็ชัดเจนขึ้นด้วยว่า น้ำตาลไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการสั่งหวานน้อยสั่งได้ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่รณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง กระแสนี้ได้ส่งไปถึงร้านเครื่องดื่มรายย่อย ดังนั้น เรื่องมาตรการทางภาษีหากทำอย่างต่อเนื่องจะเป็นการแสดงความรักอย่างจริงใจของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน”