ไทม์ไลน์ปม “ซีเซียม 137” ที่สูญหายจนถูกหลอม

20 มี.ค. 2566 | 05:28 น.

ย้อนไทม์ไลน์ปม “ซีเซียม 137” วัตถุกัมมันตรังสี ที่สูญหายเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่มีการค้นหา จนล่าสุดถูกหลอมเเล้ว

ซีเซียม 137 สูญหาย เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องค้นหาวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยมีการเพิ่มเงินรางวัลสำหรับผู้พบเบาะแสถึง 100,000 บาท ล่าสุดทางการเเถลงข่าว พบที่โรงหลอมเหล็ก ที่อยู่ใน อ.กบินทร์บุรี ถูกหลอมเเล้ว มีคำสั่งปิดโรงงาน หยุดพักการทำงาน เเละเตรียมตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยง 

อ่านเพิ่มเติม : ยืนยันเเล้ว "ซีเซียม-137" ถูกหลอม สั่งปิดพื้นที่ ตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยง

ย้อนไทม์ไลน์  ซีเซียม-137

วันที่ 14 มี.ค. มีการค้นหาซีเซียม 137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าเอกชน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับเเจ้งเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 โดยออกค้นหาใช้ครื่องตรวจจับออกค้นหาในทุกมิติ

ซีเซียม-137 ที่หายไปเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กิโลกรัม มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก

ต่อมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศตั้งเงินรางวัลถึง 100,000 บาท ให้กับผู้ชี้เบาะแสนำไปพบซีเซียม 137 

วันที่ 19 มี.ค. 66 มีข่าวการพบซีเซียม-137 ที่สูญหาย จากนั้นเวลาประมาณ 22.00 น. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปราจีนบุรี ยืนยันว่าข่าวเป็นความจริง

วันนี้ (20 มี.ค. 66) เวลา 11.00 น. ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี เเถลงยืนยันเเล้ว "ซีเซียม-137" ถูกหลอมเเล้ว สั่งปิดพื้นที่ ให้หยุดงานทันที เเละเตรียมตรวจเลือดกลุ่มเสี่ยง 

แนะแนวทางป้องกันอันตรายจาก ซีเซียม-137

ซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากที่ห่อหุ้มไว้ จะสลายตัวให้รังสีบีตาและแกมมา อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะเมื่อสัมผัสรังสีปริมาณมากแบบทั้งร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน 3 กลุ่มอาการที่เกิดขึ้น ระบบผลิตเลือด ระบบทางเดินอาหาร และ ระบบประสาทกลาง 

กรณีที่ได้รับรังสีบางส่วนร่างกายหรือปริมาณไม่สูงทำให้เกิดอาการด้านผิวหนังจากรังสี โดยมีปัจจัยที่สำคัญ คือ ปริมาณรังสีที่ได้รับ ระยะเวลาสัมผัส ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดรังสี และ มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันรังสีหรือไม่

การได้รับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 เป็นระยะเวลาสั้นๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันทีแต่อย่างใด แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดโรคมะเร็งได้

หากมีการชำแหละส่วนกล่องโลหะ อาจทำให้รังสีมีการการสัมผัสและการปนเปื้อนรังสีมากขึ้นได้

เมื่อสงสัยว่าสัมผัสปนเปื้อนรังสี การลดการปนเปื้อน ซึ่งทำได้ทั้งแบบแห้ง เช่น การปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือแบบเปียก โดบการล้างด้วยน้ำ เพื่อเป็นปกป้องผู้สัมผัส บุคลกรทางการแพทย์และสถานที่

หากผู้ใดมีอาการสงสัยจากการสัมผัสรังสี เช่น ผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย รวมทั้งการเข้าใกล้หรือสัมผัสวัตถุต้องสงสัย ให้รีบประสาน อสม.หรือ พบแพทย์ที่สถานพยาบาล

พร้อมทั้งแจ้งความเสี่ยงสัมผัสต่อเจ้าหน้าที่ โทร.สสจ.ปราจีนบุรี 037211626 ต่อ 102 หรือ ติดต่อสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์ รพ.นพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ โทร.025174333