วารสารการแพทย์โลกถอนงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าหลังอ้างมั่วเสี่ยงมะเร็งเพิ่ม

01 ก.พ. 2566 | 08:32 น.

วารสารการแพทย์โลกถอนงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าหลังอ้างมั่วเสี่ยงมะเร็งเพิ่ม เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า ECST จี้นักวิชาการไทยมีความรับผิดชอบ หยุดให้ข้อมูลบิดเบือนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า

นายอาสา ศาลิคุปต เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ ECST และผู้ดูแลเพจบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร เปิดเผยว่า ต้นเดือนที่ผ่านมา วารสารวิชาการด้านมะเร็งระดับโลก World Journal of Oncology ได้ถอดงานวิจัยฉบับหนึ่งออก เพราะมีการสรุปผลคาดเคลื่อนว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเทียบเท่ากับผู้ที่สูบบุหรี่มวน 

โดยให้เหตุผลว่ามีข้อกังขาจำนวนมากเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการศึกษา แหล่งข้อมูล วิธีการประมวลผล รวมถึงผลการวิเคราะห์เชิงสถิติ ความน่าเชื่อถือและข้อสรุปของงานวิจัยนี้ เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถระบุหลักฐานและคำอธิบายที่มีน้ำหนักเพียงพอได้

สำหรับรายงานหัวข้อความชุกของการเกิดโรคมะเร็งในผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า: การศึกษาย้อนหลังแบบตัดขวางในช่วงเวลาหนึ่ง (Retrospective Cross-sectional Study) จากการสํารวจภาวะสุขภาพและโภชนาการระดับชาติโดยการตรวจร่างกาย (National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES)) ได้รับการตีพิมพ์ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 

แต่ภายหลังมีการสอบทวนทางวิชาการ (Peer Review) และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระเบียบการทำวิจัย การประมวลผลข้อมูล และความน่าเชื่อถือของข้อสรุป ซึ่งผู้จัดทำไม่สามารถให้ข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมหรือตอบคำถามได้ จึงทำให้บรรณาธิการของวารสารดังกล่าวต้องถอดงานวิจัยนี้ออก

งานวิจัยดังกล่าวนี้ทำการศึกษาข้อมูลการสำรวจด้านสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติ ซึ่งสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 154856 คนในช่วงปี 2015-2018 โดยมีคำถามเกี่ยวกับการสูบบุหรี่และการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และยังถามว่าผู้ตอบเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่

นายอาสา ศาลิคุปต เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ ECST อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ระบุถึงระยะเวลาหรือปีที่เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยทีมผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นมะเร็งเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะต้องการเลิกบุหรี่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นการที่การศึกษานี้สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งจึงไม่ถูกต้อง

ข้อกังวลการทำการศึกษาและข้อสรุปของงานวิจัยนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับผลการศึกษาอื่นๆ ที่เชื่อมโยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าการวินิจฉัยโรคนั้นเกิดขึ้นก่อนหรือหลังผู้เข้าร่วมการศึกษาเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต้นตอของโรค ในปี 2020 เหตุผลนี้ก็ทำให้บทความในวารสาร The American Heart Association เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและโรคหัวใจถูกถอดถอนเช่นกัน
 

“ในต่างประเทศหากพบว่าการทำวิจัยหรือผลการวิจัยไม่ถูกต้องก็จะต้องถูกถอดออก ไม่ปล่อยให้มีการเผยแพร่ต่อ แต่นักวิชาการหรือเครือข่ายหมอบางกลุ่มในประเทศไทยมักจะหยิบยกงานวิจัยที่สรุปผลคลาดเคลื่อนเหล่านี้มาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน หรือทำการศึกษาที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าแบบมีอคติ มีการตั้งธงไว้ก่อนแล้วว่าทำเพื่อให้ได้ข้อมูลมาสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกแบนต่อไป เน้นสร้างความหวาดกลัวมากกว่าให้ความรู้กับประชาชนอย่างรอบด้าน”

นายอาสา กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีดรามาในแวดวงวิชาการที่มีการซื้อขายงานวิจัย เคลมชื่อเป็นผู้เขียนโดยไม่ได้ลงมือทำจริง ลากโยงไปถึงประเด็นความขัดแย้งด้านผลประโยชน์เพื่อขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ตอนนี้สังคมกำลังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ดังนั้น จึงต้องการเรียกร้องให้มีการนำเสนอข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องและนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาควบคุมอย่างเหมาะสมพร้อมเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อสร้างรายได้และป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน 

เพราะการสร้างความเข้าใจผิดและกีดกันไม่ให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า และเป็นอุปสรรคต่อการลดอันตรายจากยาสูบ (tobacco harm reduction) และการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ซึ่งการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเช่นการศึกษาที่ถูกถอดถอนฉบับนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวการสร้างความเข้าใจผิดเช่นกัน