นิด้าโพลเผยผลสำรวจ ประชาชนหวาดกลัวคดีอาชญากรรมออนไลน์

22 ม.ค. 2566 | 03:28 น.

นิด้าโพลเผยผลสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่ 40.46% หวาดกลัวคดีอาชญากรรมออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ หลอกลวงขายของออนไลน์ รองลงมา คดียาเสพติด 15.27%

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ความเชื่อมั่นต่อองค์กรตำรวจในสายตาของประชาชน" ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 18-20 มกราคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

นิด้าโพลเผยผลสำรวจ ประชาชนหวาดกลัวคดีอาชญากรรมออนไลน์

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกหวาดกลัวต่อภัยอาชญากรรมของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง 35.65% ระบุว่า ค่อนข้างหวาดกลัว รองลงมา 33.51% ระบุว่า หวาดกลัวมาก 17.63% ระบุว่า ไม่ค่อยหวาดกลัว และ13.21% ระบุว่า หวาดกลัวน้อย

ด้านประเภทคดีอาชญากรรมที่ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง 40.46% ระบุว่า คดีอาชญากรรมออนไลน์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ หลอกลวงขายของออนไลน์ รองลงมา 24.66% ระบุว่า คดียาเสพติด เช่น ซื้อ ขาย หรือเสพยาเสพติด หลอนจากการเสพยา

15.27% ระบุว่า คดีฆาตกรรมหรือทำร้ายร่างกาย 9.00% ระบุว่า คดีฉ้อโกงประชาชน เช่น การหลอกลงทุน การเล่นแชร์  5.42% ระบุว่า คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืน อนาจาร และ5.19% ระบุว่า คดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ รีดเอาทรัพย์

ส่วนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการนำเสนอข่าวหรือการแถลงข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า ตัวอย่าง 39.01% ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา 26.72% ระบุว่า เชื่อมั่นน้อย 25.34% ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น และ8.93% ระบุว่า เชื่อมั่นมาก

เมื่อถามถึงการใช้บริการบนสถานีตำรวจของประชาชนในรอบ 1 ปี พบว่า ตัวอย่าง 80.23% ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการ ขณะที่ 9.77% ระบุว่า เคยใช้บริการ ซึ่งตัวอย่างที่ระบุว่า เคยใช้บริการ (จำนวน 259 หน่วยตัวอย่าง) 34.75% ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา 22.78% ระบุว่า พอใจมาก 22.01% ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ และ20.46% ระบุว่า พอใจน้อย

ด้านสายงานของตำรวจที่ประชาชนชื่นชอบ พบว่า ตัวอย่าง 29.08% ระบุว่า ด้านการสืบสวนอาชญากรรม เช่น ฝ่ายสืบสวนนอกเครื่องแบบ เสาะหาพยานหลักฐาน จับกุมคนร้าย รองลงมา 27.02% ระบุว่า ด้านการจัดการจราจร 22.06% ระบุว่า ด้านการป้องกันและปราบปราม เช่น สายตรวจ ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ฝากบ้านไว้กับตำรวจ 12.83% ระบุว่า ไม่ชื่นชอบการปฏิบัติงานของตำรวจในสายงานใดเลย และ9.01% ระบุว่า ด้านการสอบสวน เช่น รับแจ้งความ รับแจ้งเอกสาร อำนวยความเป็นธรรมในการดำเนินคดี
         

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงลักษณะตำรวจที่ดีในมุมมองของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง 37.18% ระบุว่า มีคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ โปร่งใส ตรวจสอบได้ รองลงมา 25.73% ระบุว่า ทำงานรวดเร็ว เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ 17.86% ระบุว่า การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส ในการให้บริการประชาชน 11.53% ระบุว่า บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 3.74% ระบุว่า สามารถควบคุมอารมณ์ และการแก้ไขสถานการณ์ได้ดี 2.05% ระบุว่า มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงาน และ1.91% ระบุว่า มีบุคลิกภาพ
มีความเป็นผู้นำ และเป็นแบบอย่างที่ดี