ฝนดาวตก 21 ตุลาคม 2565 เตรียมชม “โอไรออนิดส์” 1 ปีมีครั้ง

21 ต.ค. 2565 | 05:10 น.

ฝนดาวตก 21 ตุลาคม 2565 เตรียมชม“โอไรออนิดส์” 1 ปีมีครั้ง ตั้งแต่ 5 ทุ่มเป็นต้นไป ตรวจสอบรายละเอียดการชม พร้อมที่มาของ“โอไรออนิดส์”

สถานบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT ระบุว่า สามารถชมมีปรากฏการณ์ฝนดาวตก “โอไรออนิดส์-กลุ่มดาวนายพราน” ในคืนวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565  ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2565 มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ทางทิศตะวันออก บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่ง"ฝนดาวตกโอไรออนิดส์" หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน ของทุกปี

"ฝนดาวตกโอไรออนิดส์" เกิดจากอะไร

โลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า

การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพราน ตั้งแต่ช่วงเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก แม้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียง 20 ดวงต่อชั่วโมง

 

แต่เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่เกิดบริเวณกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวที่มีความสว่างโดดเด่นบนฟ้า หากสามารถบันทึกภาพการกระจายตัวของฝนดาวตกได้ ก็จะทำให้ได้ภาพฝนดาวตกที่สวยงามเคียงข้างกลุ่มดาวนายพราน อีกทั้งยังเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยดี จึงเหมาะแก่การเฝ้ารอชมและถ่ายภาพฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าอีกด้วย