ยันเขื่อนขุนด่านปราการชล ความมั่นคงแข็งแรงดี คุมน้ำอยู่

04 ต.ค. 2565 | 08:44 น.

กรมชลประทาน แจงกรณีลือสนั่นโซเชียล “เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำในเขื่อน 98.95% ส่งผลให้น้ำท้ายเขื่อนมีระดับสูงขึ้น ยันยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม

นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล ได้ตรวจสอบพบว่า ปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องตลอดในช่วงที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดนครนายก  ประกอบกับจากอิทธิพลของพายุโนรู ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชล เพิ่มสูงขึ้น

ยันเขื่อนขุนด่านปราการชล ความมั่นคงแข็งแรงดี คุมน้ำอยู่

โดยสถานการณ์น้ำในช่วง 4 วันที่ผ่านมา มีดังนี้  วันที่ 30 กันยายน 2565 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 212.25 ล้าน ลบ.ม. หรือ 95 % ของความจุ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯวันละ 6.46 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 1.10 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 1 ตุลาคม 2565 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 221.64 ล้าน ลบ.ม. หรือ 99 % ของความจุ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันละ 11.38 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 1.93 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 2 ตุลาคม 2565 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 219 ล้าน ลบ.ม. หรือ 98 % ของความจุ มีปริมาณไหลลงอ่างฯ วันละ 5.95 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 8.48 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 3 ตุลาคม 2565  มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 218.51 ล้าน ลบ.ม. หรือ 97 % ของความจุ มีปริมาณไหลลงอ่างฯ วันละ 4 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 4.52 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเขื่อนขุนด่านปราการชล ยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ตามข้อกำหนดของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล ได้บริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) และการระบายน้ำจะไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายหรือกระทบน้อยที่สุด

ยันเขื่อนขุนด่านปราการชล ความมั่นคงแข็งแรงดี คุมน้ำอยู่

โดยมีสถานีควบคุมโทรมาตรที่เขานางบวช (NY.1B) อยู่ในแม่น้ำนครนายก ห่างจากตัวเขื่อน 10 กิโลเมตร เป็นตัวที่จะกำหนดระดับน้ำในแม่น้ำนครนายก ไม่ให้ไปท่วมพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ มีการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญได้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 2565 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครนายก ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว