อัพเดท"พายุเข้าไทย" อิทธิพลพายุโนรู ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัด

01 ต.ค. 2565 | 04:32 น.

อัพเดท"พายุเข้าไทย" ปภ.รายงานอิทธิพลพายุโนรู ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 15 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด ประสานพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือ

วันที่ 1 ต.ค. 65 เวลา 10.00 น. ปภ.รายงานผลกระทบพายุโนรู ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี ชัยนาท สระแก้ว และปราจีนบุรี รวม 53 อำเภอ 130 ตำบล 387 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,424 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 รายผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เนื่องจากสาเหตุลมพัดต้นไม้ลมทับรถยนต์

 

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยนาท และปราจีนบุรี รวม 42 อำเภอ 111 ตำบล 363 หมู่บ้าน ขณะที่สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พระนครศรีอยุทธยา อ่างทอง ปทุมธานี และสิงห์บุรี รวม 17 อำเภอ 132 ตำบล 685 หมู่บ้าน ประสานพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายและให้ช่วยเหลือประชาชน

อัพเดท"พายุเข้าไทย" อิทธิพลพายุโนรู ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัด

 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบพายุโซนร้อนกำลังแรง “โนรู (NORU)”  เคลื่อนเข้าประเทศไทยบริเวณ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 18.00 น. ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น

ทำให้ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - ตุลาคม 2565 เกิดสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิจิตรอำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี ชัยนาท สระแก้ว และปราจีนบุรี รวม 53 อำเภอ 130 ตำบล 387 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,424 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 รายผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เนื่องจากสาเหตุลมพัดต้นไม้ลมทับรถยนต์ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 10 จังหวัด 42 อำเภอ 111 ตำบล 363 หมู่บ้าน ดังนี้

 

1. เพชรบูรณ์ น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ อำเภอบึงสามพัน อำเภอหนองไผ่ อำเภอหล่มสัก รวม 21 ตำบล 86 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 140 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

 

2. พิจิตร น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอวชิรบารมี อำเภอดงเจริญ อำเภอทับคล้อ อำเภอบึงนารางและอำเภอบางมูลนาก รวม 25 ตำบล 113 อำเภอ ระดับน้ำทรงตัว

 

3. ศรีสะเกษ น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอยางชุมน้อย อำเภอวังหิน อำเภอภูสิงห์ อำเภอน้ำเกลี้ยง และอำเภออุทุมพรพิสัย รวม 16 ตำบล 46 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,301 ครัวเรือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย และเสียชีวิต 1 ราย อพยพประชาชน 379 ครัวเรือน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 16 จุด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

 

4. อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอพิบูลย์มังสาหาร อำเภอเดชอุดม อำเภอดอนมดแดง อำเภอสำโรง อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล รวม 19 ตำบล 59 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,120 ครัวเรือน อพยพประชาชน 60 ชุมชน 2,120 ครัวเรือน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 55 จุด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

 

5.ขอนแก่น น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น รวม 5 ตำบล 5 หมูบ้าน ระดับน้ำลดลง

 

อัพเดท"พายุเข้าไทย" อิทธิพลพายุโนรู ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 10 จังหวัด

 

 

6. ชัยภูมิ น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเนินสง่า อำเภอจัตุรัส อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอบ้านเขว้า รวม 9 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

 

7. นครราชสีมา น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลำทะเมนชัย และอำเภอสูงเนิน รวม 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

 

8. บุรีรัมย์ น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบ้านด่าน รวม 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

 

9.ชัยนาท น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ อำเภอมโนรมย์ อำเภอหันคา และอำเภอสรรพยา รวม 9 ตำบล 25 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 750 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

 

10. ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอเมืองปราจีนบุรี รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่สถานการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง และน้ำในแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ยังคงทำให้มีสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี และสิงห์บุรี รวม 17 อำเภอ 132 ตำบล 685 หมู่บ้าน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

 

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯต่อไป

 

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM