"เสรีพิศุทธ์" อ่านเกมต่อสู้ "บิ๊กโจ๊ก" ตั้งข้อสังเกต "บิ๊กต่าย" ถูกชักใย

23 เม.ย. 2567 | 10:35 น.

"พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" วิเคราะห์ทางต่อสู้ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล พร้อมตั้งข้อสังเกตมีผู้ชักใย "บิ๊กต่าย" ออกคำสั่งเอื้อตำแหน่งคนถัดไป สุดท้าย ตาอยู่ นั่ง ผบ.ตร.

กรณี "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ซึ่งหลังจากถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดย "บิ๊กต่าย" พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ถึงขณะนี้ ถือว่า "บิ๊กโจ๊ก" ดับเครื่องชน หลังเดินทางไปยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษนายกรัฐมนตรี และพนักงานสอบสวนตำรวจที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  เผยมุมมองว่า สถานการณ์ขณะนี้ถือว่ามีความลุกลามบานปลาย เพราะหลังจากที่ "บิ๊กต่อ" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ "บิ๊กโจ๊ก" ได้แถลงข่าวร่วมกัน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้กล่าวว่าจะมีการส่งสำนวนที่เกิดขึ้นไปให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ แต่กลับไม่มีการส่งเรื่องไปยังป.ป.ช. 

จนกระทั่งทั้งคู่มีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นเมื่อได้มีการออกหมายจับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถัดไปเพียงวันเดียวจึงมีการส่งสำนวนไปยังป.ป.ช.

คำถามคือเหตุใดจึงไม่ส่งไปก่อนหน้านั้น จึงมีข้อสังเกตว่าเหตุที่เจ้าพนักงานสอบสวนไม่ส่งเรื่องไป ป.ป.ช.ก่อนหน้านั้น เป็นเพราะต้องการให้มีการออกหมายเรียก ออกหมายจับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ จนถึงการให้ออกจากราชการไว้ก่อนใช่หรือไม่

\"เสรีพิศุทธ์\" อ่านเกมต่อสู้ \"บิ๊กโจ๊ก\" ตั้งข้อสังเกต \"บิ๊กต่าย\" ถูกชักใย

สำหรับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ที่ สามารถอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน กับคณะกรรมการพัฒนาระบบคุณธรรม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจ โดยการร้องอุทธรณ์คำสั่งให้ออก มีกำหนดเวลา 120 วัน หากคณะกรรมการยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จสามารถขยายเวลาได้อีก 2ครั้ง ครั้งละ  60 วัน แต่อย่างไรก็ตามทำให้การแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ในเดือนกันยายนนี้ จะไม่มีชื่อพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ อยู่ด้วย 

ขณะเดียวกัน หากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เห็นว่า การออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนเป็นไปโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ก่อนที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วมีคำสั่งให้ออกเลย โดยที่ตนเองมิได้มีพฤติการณ์ดังกล่าว พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ก็สามารถฟ้องไปยังศาลอาญาคดีทุจริตกลางได้ โดยขอให้ศาลรีบไต่สวน สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ปรากฏเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว 

สิ่งที่จะตามมาหากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ รีบฟ้อง การไต่สวนจะเกิดขึ้นภายใน 3 เดือน  หากศาลเห็นว่าคดีมีมูล และรับฟ้อง จะทำให้ผู้ออกคำสั่งดังกล่าวตกเป็นจำเลยทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ส่งผลให้หลุดจากการเป็นแคนดิเดตผบ.ตร. คนต่อไปเช่นเดียวกัน 

เมื่อสถานการณ์เดินไปเช่นนี้  ผบ.ตร. คนต่อไปจะตกเป็นของ "ตาอยู่" แต่สำหรับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นั้น หากผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้วผลปรากฏว่าไม่มีความผิด ก็ยังสามารถอยู่ในรายชื่อแคนดิเดตผบ.ตร.ได้จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ ซึ่งยังมีเวลาอีกหลายปี 

เพราะในชั้นป.ป.ช. ต้องดำเนินกระบวนการสอบให้เสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี แต่หากยังไม่แล้วเสร็จสามารถขยายเวลาได้อีก 1 ปี ซึ่งหากยังไม่แล้วเสร็จก็สามารถขยายเวลาต่อไปได้แต่ต้องมีกระบวนการลงโทษคณะกรรมการที่ไม่สามารถสอบสวนให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลา 3 ปี 

\"เสรีพิศุทธ์\" อ่านเกมต่อสู้ \"บิ๊กโจ๊ก\" ตั้งข้อสังเกต \"บิ๊กต่าย\" ถูกชักใย

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ยังได้แสดงความเห็นต่อ คำสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนว่า ไม่เข้าเงื่อนไขกฎ ก.ตร. เนื่องจาก ข้อ 3 ระบุว่า ผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้ผู้นั้นออกจากรายการได้ ต้องมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ คือ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือต้องหาคดีอาญาในเรื่องเกี่ยวกับทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งข้อกล่าวหาฟอกเงิน ไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่

ต่อมาคือ เกี่ยวกับความประพฤติ หรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต้องมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดคือ ถ้าผู้นั้นอยู่ในหน้าที่ราชการอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ซึ่งจะต้องมีข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายด้วยว่า หากอยู่ในราชการแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการอย่างไร 

ซึ่งพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ถูกย้ายมาช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงไม่เห็นข้อเท็จจริงว่าจะสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อย่างไรอีก และไม่ปรากฏการเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 

\"เสรีพิศุทธ์\" อ่านเกมต่อสู้ \"บิ๊กโจ๊ก\" ตั้งข้อสังเกต \"บิ๊กต่าย\" ถูกชักใย

และเมื่อพิจารณา ข้อ 8 เรื่องของการให้ออกจากราชการไว้ก่อนหากไม่สามารถสอบสวน กรณีข้อ3 ให้แล้วเสร็จได้โดยเร็ว ก็จะเห็นได้ว่ากระบวนการสอบสวนเพิ่งเริ่มต้น จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นหลักฐานได้ว่ากระบวนการสอบสวนจะต้องใช้เวลานานจนต้องให้ออกจากราชการไว้ก่อน 

นอกจากนี้หากจะตั้งกรรมการสอบวินัย ก็ควรต้องอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีเนื่องจากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ถูกย้ายมาปฎิบัติหน้าที่ ที่สำนักนายกฯรัฐมนตรีแล้ว ผู้บังคับบัญชาจึงควรเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจสั่งสอบวินัยร้ายแรง 

ดังนั้นการออกคำสั่งโดยพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ทั้งที่การตรวจสอบโดยคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่แล้วเสร็จ และหากเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผบ.ตร. คนต่อไป ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเนื่องจากเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กัน โดยเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่าอาจมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง เพื่อการแต่งตั้งผบ.ตร. คนต่อไป และนายกฯตามเกมนี้ทันหรือไม่ หรือเห็นชอบด้วยหรือไม่