โมเดลลดความเหลื่อมล้ำ ฉบับแม่ฟ้าหลวงฯ ปลูกคนรุ่นใหม่ ปั้นพลเมืองดี

19 ก.พ. 2567 | 11:34 น.

เปิดโมเดลลดความเหลื่อมล้ำคนไทย ฉบับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สร้างโอกาสทางการศึกษากับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ห่างไกล เรียนรู้ภาษาไทย ไม่ถูกเอาเปรียบ พร้อมมีทักษะอาชีพช่วยตัวเอง และเป็นพลเมืองดี พัฒนาประเทศ

“สิ่งสำคัญที่เป็นเป้าหมายของแม่ฟ้าหลวงฯ ไม่ใช่แค่สร้างคนดี แต่ต้องสร้างพลเมืองดี ให้เขามีทักษะอาชีพไปเลี้ยงตัวเองได้ มีวิชาติดตัว และมีความเข้าใจภาษาไทย”

คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับคณะสื่อมวลชนในขณะลงพื้นที่โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี เพื่อติดตามงานด้านการศึกษา อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กับการสร้างโอกาสทางการศึกษากับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำที่กำลังกัดกินโครงสร้างประเทศไทยในปัจจุบัน

จากความแตกต่าง-ห่างไกล ของเด็กที่อยู่บนดอยและที่ราบ สิ่งสำคัญของการสร้างคนนั่นคือการลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้แคบลง โดยสิ่งหนึ่งที่สำคัญนั่นคือ “ภาษาไทย” คุณหญิงพวงร้อย บอกว่า เรื่องของภาษานั้นเป็นเรื่องสำคัญที่โรงเรียนในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง ต้องจัดการเรียนการสอนให้เด็กในพื้นที่มีทักษะภาษาไทย อ่านออก เขียนได้ เพื่อบีบช่องว่างของคนชนบท-คนเมืองให้ลดลง และขยายโอกาสในชีวิตของเด็กได้มากขึ้น

ที่สำคัญไปกว่านั้น ยังช่วยสร้างโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะสามารถเรียนรู้ภาษาจนสามารถเข้าถึงโอกาสในการดำรงชีวิต พร้อมทั้งปกป้องสิทธิพื้นฐานของตนเองและครอบครัวได้มากยิ่งขึ้น

 

คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยเรื่องการศึกษาภาษาไทยของเยาวชนในพื้นที่ และมีรับสั่งให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ส่งเสริมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ ให้สามารถอ่าน-เขียนภาษาไทย และให้เด็กมีส่วนในการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น”

ประเด็นสำคัญของการออกแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่ เน้นการเรียนการสอนที่แตกต่างจากหลักสูตรสามัญของเด็กนักเรียนในเมือง โดยปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงเป้ากับความต้องการของเด็กในพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะการเรียนรู้ทักษะอาชีพที่เด็กมีความต้องการ เช่น การเกษตร บริการ และงานช่างอีกสารพัด 

 

โมเดลลดความเหลื่อมล้ำ ฉบับแม่ฟ้าหลวงฯ ปลูกคนรุ่นใหม่ ปั้นพลเมืองดี

ปรับระบบการเรียนการสอน Montessori

พร้อมทั้งนำเอาระบบการเรียนการสอนแบบ “มอนเตสซอรี่” (Montessori) หรือ หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง และการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task Based Learning) มาใช้กับเด็กระดับปฐมวัย-ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ แก้ไขปัญหา เติมทักษะให้กับเด็กเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ พร้อมทั้งให้เด็กสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ระบุว่า กระบวนการสอนแบบ Montessori นับว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนที่มีความสำคัญ ผ่านอุปกรณ์มากมายที่ช่วยเสริมทักษะมีอยู่ทั่วห้องเรียน ใครอยากเล่นอยากดูอยากทดลองอะไรก็สามารถเลือกทำกิจกรรมนั้น ๆ เรียนรู้ รับทราบข้อผิดพลาด และหาแนวทางแก้ปัญหา เตรียมความพร้อมร่างกาย จิตใจ และพื้นฐานคุณธรรม เช่น ใครไม่ชอบคณิตศาสตร์ตัวเลข ก็ไปมุมศิลปะ โดยมีครูเป็นคนคอยเป็นพี่เลี้ยงอย่างห่าง ๆ 

ปัจจุบัน กระบวนการสอนแบบ Montessori ได้ขยายผลออกไปครอบคลุมโรงเรียนทั้ง 8 แห่ง ที่อยู่ในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย รวมทั้งการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task Based Learning) ใน 37 โรงเรียน 95 ห้องเรียน

 

โมเดลลดความเหลื่อมล้ำ ฉบับแม่ฟ้าหลวงฯ ปลูกคนรุ่นใหม่ ปั้นพลเมืองดี

 

เสริมระบบการลงมือปฏิบัติจริง

ส่วนเด็กในระดับที่ใหญ่ขึ้นมา คือตั้งแต่ ป.4-6 ได้เสริมระบบการเรียนการสอนแบบ Project-based learning (PBL) นั่นการเรียนรู้ที่ใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนรู้ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา อย่างสร้างสรรค์มีขั้นตอน 7 ขั้นตอน นั่นคือ

  • ขั้นตอนที่ 1 สร้างแรงบันดาลใจ 
  • ขั้นตอนที่ 2 ออกแบบและวางแผนโครงงานและสร้างองค์ประกอบเกณฑ์ประเมินคุณภาพผลงาน 
  • ขั้นตอนที่ 3 สืบค้นข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล 
  • ขั้นตอนที่ 4 ใช้ข้อมูลสร้างโครงงาน 
  • ขั้นตอนที่ 5 นำเสนอโครงงานเพื่อการวิพากษ์ ให้คำเสนอแนะเพื่อปรับปรุงโครงงาน 
  • ขั้นตอนที่ 6 ปรับปรุงโครงงาน ออกแบบการนำเสนอและฝึกการนำเสนอผลงาน 
  • ขั้นตอนที่ 7 นำเสนอผลของโครงงาน

 

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี

 

โดยมีตัวชี้วัดคือ เด็กสามารถช่วยตัวเองได้ สามารถคิด ถาม ตอบ วิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างโครงการเล็ก ๆ ขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น การให้เงินซื้อของจากแพล็ตฟอร์มออนไลน์มาขายด้วยตัวเอง ให้เด็กเรียนรู้วิธีการ และหาตลาดจากเพื่อน ๆ ร่วมชัด ก่อนนำสินค้าที่ซื้อมาขาย สร้างรายได้ ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กมีทักษะการเรียนรู้ในรู้แบบที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

“สิ่งสำคัญของหลักสูตรการเรียนการสอนคือทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ พัฒนาตามศักยภาพตัวเอง โดยในหนึ่งสัปดาห์จะให้เด็กมาเรียนแบบคละชั้น เช่น ป.1-3 เน้นการสร้างทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย และเมื่อใครมีความพร้อมก็ไปสอบกับครู เพื่อเลื่อนระดับของตัวเอง โดยกิจกรรมนี้จะช่วยให้เด็กทุกคนมีสังคมร่วมกัน และเกิดกระบวนการเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วย” 

ดร.ศุภโชค ระบุด้วยว่า การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ เรียนว่าเป็นการการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการอย่างแท้จริง โดยการจัดการเรียนแบบบูรณาการ กำหนดเอาไว้ 8 คาบเรียนต่อสัปดาห์ เด็กเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ ทดลองทำ นำเสนอ และสร้างเป็นโครงการขึ้นมาในช่วงท้าย แต่ก็ยังมีวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรปกติ ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ก็ยังคงไว้

 

โมเดลลดความเหลื่อมล้ำ ฉบับแม่ฟ้าหลวงฯ ปลูกคนรุ่นใหม่ ปั้นพลเมืองดี

 

เด็กโตโฟกัสสร้างทักษะอาชีพ

ส่วนเด็กโต คือ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จะโฟกัสการเรียนการสอนโดยเน้นอาชีพ คือหลักสูตร “ทวิศึกษา” เป็นการจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ให้เด็กเรียนระดับ ม.6 เรียนรู้ในสายวิชาชีพด้วย เพื่อให้เด็กจบการศึกษาครบตามหลักสูตรที่กำหนดจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองวุฒิการศึกษา ทั้งในระดับ ม.6 และระดับ ปวช. ไปพร้อมกัน 

นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถเก็บหน่วยกิตสะสมเป็นธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ก่อนจะนำหน่วยกิตไปต่อยอดการเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้ โดยตัวอย่างรายวิชาที่สอน เช่น สาขาวิชาเกษตร วิชาคหกรรม (อาหาร) เพื่อเป็นการเตรียมตัวสู่โลกภายนอก และให้เด็กมีพื้นฐานการประกอบอาชีพ

“โจทย์สำคัญของเด็กที่เรียนจบจากที่นี่ คือชั้นม.6 เรียนต่อน้อยมาก ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นหลัก การเรียนการสอนจึงเติมความรู้ด้านพื้นฐานอาชีพให้เด็ก และเป็นการเรียนแบบทวิศึกษาด้วย”

 

โมเดลลดความเหลื่อมล้ำ ฉบับแม่ฟ้าหลวงฯ ปลูกคนรุ่นใหม่ ปั้นพลเมืองดี

 

ปัจจุบัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กำลังอยู่ระหว่างการส่งเสริมการเรียนการสอนในรูปแบบพิเศษดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายโรงเรียน พร้อมทั้งยังเตรียมดึงสมาคม Montessori ของโลก เข้ามาเปิดศูนย์อบรมบุคลากรด้าน Montessori พร้อมทั้งทำสื่อการเรียนการสอน Montessori ให้มีราคาถูกลง โดยประยุกต์ของที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ด้วย ซึ่งน่าจะช่วยให้การพัฒนาการศึกษาของไทยในพื้นที่ห่างไกล ใกล้กับคำว่าเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น