ชมโฉม "กุ้งเต้นปั่นท่อ" ชนิดใหม่ของโลก ค้นพบในไทย

18 ธ.ค. 2566 | 06:40 น.

ข่าวดี ทีมนักวิจัย มก. ค้นพบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ถือเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานการค้นพบที่อ่าวไทยและแม่น้ำ มีคุณสมบัติยึดเกาะผิวน้ำ ช่วยทำให้น้ำในพื้นที่นั้นสะอาดขึ้น

ข่าวดีในแวดวงวิทยาศาสตร์และชีววิทยาของไทย เมื่อมีรายงานผ่าน เพจเฟซบุ๊ก Kasetsart University ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้เผยแพร่การค้นพบ "กุ้งเต้นปั่นท่อ" ชนิดใหม่ของโลกโดยเป็นรายงานแรกที่พบในอ่าวไทยและในแม่น้ำ 

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร. กรอร วงษ์กำแหง นางสาวชนิกานต์ เกตุนวม และ ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Assoc. Prof. Dr. Azman Abdul Rahim จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ร่วมกันพบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม

โดยทั่วไปกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดอื่น ๆ พบกระจายบริเวณชายฝั่งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก การค้นพบครั้งนี้เป็นรายงานแรกของกุ้งเต้นปั่นท่อในอ่าวไทยและเป็นรายงานแรกที่พบกุ้งเต้นปั่นท่อในแม่น้ำ 

ชมโฉม "กุ้งเต้นปั่นท่อ" ชนิดใหม่ของโลก ค้นพบในไทย

ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า Cerapus rivulus ซึ่งหมายถึงแหล่งอาศัยของกุ้งเต้นปั่นท่อที่พบในแม่น้ำนั่นเอง

แม่น้ำแม่กลอง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทยโดยมีปลายทาง คือ จังหวัดสมุทรสงคราม มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ บริเวณที่เป็นน้ำจืดคือในเขตอำเภอบางคนทีมีการทำเกษตรกรรม และอำเภออัมพวาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง

ส่วนปากแม่น้ำบริเวณดอนหอยหลอดก็เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ ในปีที่ผ่านมามีการค้นพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลก ที่อำเภออัมพวา 2 ชนิด และเมื่อศึกษาต่อเนื่อง

ในปีนี้ทีมสำรวจได้สำรวจไกลขึ้นไปในเขตอำเภอบางคนที และได้พบกุ้งเต้นปั่นท่อสร้างท่อติดไว้กับเครื่องมือวิจัยที่ติดไว้ที่ท่าน้ำบริเวณหน้าโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ กุ้งเต้นชนิดนี้มีการปรับรยางค์ให้ดำรงชีวิตอยู่ในท่อได้ตลอดชีวิต

ชมโฉม "กุ้งเต้นปั่นท่อ" ชนิดใหม่ของโลก ค้นพบในไทย

ทีมงานวิจัยได้ลองเลี้ยงและบันทึกพฤติกรรมในการสร้างท่อ การสืบพันธุ์และการกินอาหารพบว่า กุ้งเต้นปั่นใยจับตะกอนแขวนลอยในมวลน้ำกินเป็นอาหาร ช่วยให้น้ำในพื้นที่นั้นสะอาดขึ้น

นอกจากนี้ใยที่กุ้งเต้นปั่นท่อสร้างออกมาจากขาเดินคู่ที่ 3 และ 4 ยังมีคุณสมบัติที่เหนียวและสามารถยึดกับวัสดุใต้น้ำได้ มีรายงานการพบกุ้งเต้นปั่นท่อในพื้นที่ที่น้ำไหลค่อนข้างแรงจึงทำให้มีการปรับตัวที่น่าสนใจ

การค้นพบดังกล่าวอาจนำไปต่อยอดในแง่ของชีวลอกเลียน (Biomimic) ในการสร้างกาวที่มีความยืดหยุ่นสูงและยึดติดใต้น้ำได้ โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยค้นพบกุ้งเต้นปั่นท่อเผยแพร่ลงในวารสาร Zoosystematics and Evolution เมื่อวันที่  4 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา