วันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2566 เปิดประวัติ ที่มาและความสำคัญ  

31 ก.ค. 2566 | 20:00 น.

วันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2566 เปิดประวัติ ที่มาและความสำคัญอย่างไร พร้อมอ่านหน้าที่สำคัญของหญิงไทย 4 ประการในโลกยุคใหม่  

วันสตรีไทย ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้ผู้หญิงไทยมีโอกาสแสดงความสามารถในการพัฒนาประเทศเทียบเท่าสตรีสากลของประเทศอื่น ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันสังคมให้สามารถเทียบเท่าสตรีสากลของหลายประเทศที่เจริญแล้ว

นอกจากนี้เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันมหามงคล 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีพระวิริยะอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อให้คนไทยได้มีอาชีพ 

ในยุคปัจจุบันสตรีมีบทบาทมากขึ้น มีความรู้ความสามารถครบถ้วน ทั้งด้านการบริหาร การจัดการ และด้านครอบครัว ทั้งยังก้าวทันยุคสมัย เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม จะเห็นได้ว่า หน่วยงานราชการและภาคเอกชนเริ่มมีสตรีเข้าไปเป็นหัวหน้างานมากขึ้น รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศชาติ 

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดงานวันสตรีไทย ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต พร้อมทั้งมีพระราชดำรัส 4 ประการ เนื่องในวันสตรีไทย ดังนี้

1.พึงทำหน้าที่ของแม่ให้สมบูรณ์

2.พึงทำหน้าที่แม่บ้านให้ดี

3.พึงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย

4. ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น

ในระดับสากล มีสตรีที่ได้รับการยกย่องในความสามารถและบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมจากผู้คนทั่วโลก เช่น เจ้าหญิงไดอาน่า แห่งอังกฤษ, แม่ชีเทเรซา แห่งอินเดีย, ประธานาธิบดี เมกาวลี แห่งอินโดนีเซีย และนางอองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา เป็นต้น

ดอกไม้ประจำวันสตรีไทย

ในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 สภาสตรีแห่งชาติฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานดอกกล้วยไม้พระนาม "แคทลียา ควีนสิริกิติ์" เพื่อใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันสตรีสืบไปด้วย