Bangkok Design Week 2023 จัดที่ไหน ดูพิกัดที่นี่

05 ก.พ. 2566 | 03:58 น.

เริ่มแล้ววันนี้ เทศกาล Bangkok Design Week 2023 ปลุกพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 9 วัน 9 ย่าน วันที่ 4-12 ก.พ.นี้ เช็คพิกัดได้ที่นี่

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดเทศกาล Bangkok Design Week 2023 หรือ  BKKDW2023 ระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ไปต่อได้ 

สำหรับแนวคิดงานครั้งนี้ คือ “urban‘NICE’zation เมือง - มิตร - ดี” เพื่อสร้างความ น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว ใน 6 มิติ ทั้งในด้านมิตรดีต่อสิ่งแวดล้อม มิตรดีต่อการเดินทาง มิตรดีต่อวัฒนธรรม มิตรดีต่อธุรกิจ มิตรดีต่อชุมชน และมิตรดีต่อทุกความหลากหลายของผู้คนในสังคม

โดยมีการออกแบบเป็นกิจกรรมใน 4 รูปแบบ ได้แก่

1. Showcase & Exhibition แสดงผลงานจากนักสร้างสรรค์ นำเสนอแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิต

2. Talk & Workshop กิจกรรมบรรยาย และเวิร์กชอป เพื่อให้ความรู้และแนวคิดใหม่จากนักสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ

3. Creative Market & Promotion เปิดตลาดนัดสร้างสรรค์ 6 ตลาดทั่วกรุงเทพฯ กว่า 80 แบรนด์ดีไซน์ และ

4. Event & Program กิจกรรมสร้างบรรยากาศ และความเคลื่อนไหวกับเมืองในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง ตลอดจนการจัดเทคนิคแสงสี บนสถาปัตยกรรม รวมถึงการเปิดบ้านของคนในย่าน (Open House)

Bangkok Design Week 2023 จัดที่ไหน ดูพิกัดที่นี่

เปิดพิกัด Bangkok Design Week 2023

สำหรับ 9 ย่านที่เข้าร่วมเทศกาล Bangkok Design Week 2023 จะอยู่ในพื้นที่ 12 เขต ประกอบด้วย

1. ย่านเจริญกรุง - ตลาดน้อย  ชมงานดีไซน์บนถนนสายแรกของประเทศไทย จากนั้นลัดเลาะเข้าไปในชุมชนเก่าที่กลายเป็น “ย่านต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่มีกว่า 200 โปรแกรมสร้างสรรค์จากนักสร้างสรรค์ทั่วสารทิศตบเท้าเข้ามาจัดงานในย่านนี้ โดยมีไฮไลต์สำคัญ อาทิ

• Circular Café ณ ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ โดยมีแนวคิดแบบ Zero Waste ตั้งแต่การตกแต่งพื้นที่และออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ด้วยวัสดุรีไซเคิล การลดใช้พลังงานและทรัพยากรในการจัดการ ไปจนถึงการนําเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ สร้างสรรค์ออกแบบโดย QUALY ร่วมกับ HARV และ LMLM 

• Seatscape & Beyond by One Bangkok ที่นั่งสาธารณะที่มอบประสบการณ์ใหม่แก่คนเมือง การนำเสนอผลงานรอบสุดท้าย โดย 10 ทีมผู้ชนะในโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” ที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ เพื่อยกระดับบริบทแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ

• WASTE IS MORE สร้างสรรค์ออกแบบโดย MORE ณ โถงกลาง อาคารไปรษณีย์กลาง โดยเป็นการสร้างสรรค์และส่งต่อความคิดผ่านนิทรรศการที่จุดประกายความคิดที่ว่า “ไม่มีของเสีย มีเพียงทรัพยากรที่มีคุณค่า” 

• Re-Vendor เจริญกรุง 32 โดยเป็นการออกแบบของ CEA ร่วมกับ Cloud-Floor CommDe/ID CU KU และ Street Vendors CRK32 ร่วมกันออกแบบเชิงทดลองของร้านค้าแผงลอยในซอยเจริญกรุง 32 เพื่อสร้างนำเสนอสตรีทฟู้ดริมทางในรูปแบบใหม่ให้เป็นมิตรกับเมือง ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจ ชุมชน และผู้คนที่มีหลากหลายในเมือง

2. ย่านเยาวราช บนพื้นที่ไชน่าทาวน์ - ย่านเยาวราช ทรงวาด สำเพ็ง สู่การสร้างสรรค์ให้ย่านแห่งนี้ไม่มีวันหลับใหลและกลายเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ Bangkok City of Design ออกแบบโดย “City Trooper X Academic Program” เปิดประสบการณ์ใหม่ในย่านเก่าที่ไม่ได้มีดีแค่สตรีทฟู้ดระดับโลกแต่ยังมีความเข้มข้นทางวัฒนธรรมจีนหลากหลายยุคสมัย จากความร่วมมือของนักพัฒนาเมือง สถาบันการศึกษา และกลุ่มนักวิชาการ ร่วมค้นหาความต้องการของเมือง โดยมีไฮไลต์สำคัญได้แก่

• New bus stop design เขตสัมพันธวงศ์ ภายใต้แนวคิด Academic Program: Bangkok City Trooper ที่มีการนําความคิดสร้างสรรค์โดยการหยิบอัตลักษณ์จีนที่เป็นวัฒนธรรมหลักของพื้นที่มาออกแบบป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ จากกลุ่ม MAYDAY! เขตสัมพันธวงศ์ ให้ใช้งานง่ายขึ้น โดยป้ายนี้ก็จะติดตั้งถาวรใช้งานต่อไป

• You do me I do you ณ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ออกแบบโดย D&O association โดยรังสรรค์ผลงานที่มีการใช้วัสดุที่ไม่คุ้นเคยด้วยการแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างสตูดิโอ เช่น เหล็กไปสู่โรงงานหวาย โดยนำหลักการและสไตล์การออกแบบเฉพาะตัวของศิลปินมาปรับใช้และสร้างสรรค์ผลงานใหม่

3. ย่านสามย่าน - สยาม ศูนย์รวมแหล่งการเรียนรู้ และศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ และสนามทดลองของคนสร้างสรรค์มาระดมไอเดียนอกกรอบในพื้นที่ เช่น Art4C House of Passa Saratta โดยมีไฮไลต์สำคัญได้แก่

• CASETiFY และ BKKDW2023 ออกแบบโดย CASETiFY แบรนด์ไลฟ์สไตล์และอุปกรณ์เสริมเทคโนโลยีระดับโลก สร้างคอลเลคชัน “เคสโทรศัพท์” ที่สะท้อนบริบทกรุงเทพฯ โดยศิลปินไทย 10 ท่าน บอกเล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯ ให้พกพาไปได้ทุกที่

4. ย่านพระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง เมืองเก่าที่มีความคลาสสิกสะท้อนความเจริญของยุคสมัย พร้อมวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นที่นำมาต่อยอดสร้างสรรค์เพื่อการอนยุรักษ์ สู่บริบทใหม่ของกรุงเทพฯ ตามจุดต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ประปาแม้นศรี ลานคนเมือง ไปรษณียาคาร บ้านนางเลิ้ง เป็นต้น โดยมีไฮไลต์สำคัญได้แก่

• 32F #น้ำแข็งละลายเพราะโลกร้อน หัวใจไหลอ่อนเพราะโรครัก ออกแบบโดย FOS design studio ค้นพบเสน่ห์ของอาคารประวัติศาสตร์ที่ข้ามผ่านกาลเวลาและได้กลายเป็นพื้นที่ปิดในปัจจุบัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในย่านเก่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ โดยจัดแสดงการออกแบบแสงสว่างทางสถาปัตยกรรม ณ ประปาแม้นศรี กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Unfolding Bangkok - Living Old Building

• จรจัดสรร ณ พยัคฆ์ แกลเลอรี ออกแบบโดย จรจัดสรร Stand for Strays มีต้นแบบจากที่พักพิงสุนัขจรจัดในชุมชน โดยออกแบบที่พักขนาดเล็ก เพื่อหลบแดด หลบฝน กินอาหาร ให้กับสุนัขในซอยต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ

• SATORIAL ณ The Umber Housepresso & More ออกแบบโดย SENSE OF NANG LOENG พัฒนาพื้นที่ในย่านนางเลิ้ง แหล่งวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อสร้างพื้นที่และประสบการณ์ใหม่ผ่านเสียงดนตรีพร้อม Projection Mapping ท่ามกลางบรรยากาศชุมชนดั้งเดิมซึ่งเป็นแหล่งพำนักของศิลปินนักดนตรีไทยและนางรำ

5. ย่านอารีย์ - ประดิพัทธ์ เป็นกิจกรรม “เปิดบ้าน เปิดย่าน เปิดเมือง” ให้ชมสตูดิโอ อาคารบ้านเรือน รวมถึงร้านค้า เป็นย่านสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ เช่น โครงการ 33 space สวนซอยประดิพัทธ์ 17 สวนกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีไฮไลต์สำคัญได้แก่

• สวนสาธารณะ โดย AriAround แพลตฟอร์มที่ชวนคนในชุมชนแลกเปลี่ยนความใจดีและร่วมสร้างสรรค์ชุมชนของตัวเอง ปีนี้มาชวนคนตั้งคำถามกับพื้นที่สีเขียวในเมืองว่าสามารถให้ประโยชน์กับคนในชุมชนแค่สำหรับออกกำลังกายจริงหรือ? มาร่วมค้นหาความเป็นไปได้ในการขยายมุมมองและความสัมพันธ์ของเรากับพื้นที่สีเขียวร่วมกับสมาชิกชุมชนย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ และภาคีเครือข่าย ณ สวนสาธารณะ กรมประชาสัมพันธ์

6. ย่านพร้อมพงษ์ ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ซอยสุขุมวิท 26 โดยกลุ่ม 49 & FRIENDS เป็นการรวมตัวของนักสร้างสรรค์ ยกระดับให้ย่านมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัย และกลายเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด โดยมีไฮไลต์สำคัญได้แก่

• 49 & FRIENDS: LUMINOUS 26 พัฒนาสิ่งแวดล้อมใหม่โดย A49 / A49HD ในซอยสุขุมวิท 26 ออกแบบระบบส่องสว่างใหม่ เพิ่มความปลอดภัยของคนเดินถนนและรถยนต์ในยามค่ำคืน

7. ย่านบางโพ สานต่อ “ถนนสายไม้บางโพ ตำนานที่มีชีวิต” พื้นที่วัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ จากผู้ผลิตงานไม้ในย่าน สู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม หาซื้องานไม้ดีไซน์เก๋ราคาพิเศษในรอบ 15 ปี งานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ งานแกะสลัก ไม้แปรรูป ของตกแต่งประเภทต่าง ๆ รับส่วนลดสูงสุดกว่า 50% โดยมีไฮไลต์สำคัญได้แก่

• เดินในซอยไม้เข้าพาวิลเลี่ยน The Life of Wood โดย Bangpho Wood Street ณ ศาลเจ้าแม่ทับทิม สร้างโดยการนำโคมไม้แปรรูป แนวคิด “FILL THE GAP - เติมเต็ม ต่อยอดยุคสมัย ต่อยอดอาชีพ” มอบประสบการณ์แก่ผู้เข้าชมให้ถนนสายไม้เป็นถนนสร้างสรรค์ที่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

• เดินชอปและพักเหนื่อยได้ที่ Pocket Park สวนสาธารณะขนาดเล็ก จากแนวคิด Balance in Space โดย Bangpho Wood Street ปรับพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่สาธารณะ ด้วยวัสดุเหลือใช้ภายในย่านมาต่อยอดด้วยงานฝีมือของคนในย่าน ณ บริษัท ทวีกิจ ผลิตภัณฑ์ไม้ จำกัด

8. ย่านวงเวียนใหญ่ - ตลาดพลู / คลองสาน บนถนนสายวัฒนธรรม ความเชื่อ อาหาร และศิลปกรรมในรูปแบบใหม่ ซึ่ง SC Asset ร่วมกับ กลุ่มยังธน สถาบันการศึกษา กลุ่มนักสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการชุมชน คนในพื้นที่ และย่านคลองสาน ดึงสินทรัพย์สร้างมูลค่าเพิ่มมานำเสนอในการออกแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ด้วยกิมมิคนั่งเรือเที่ยวตามสไตล์ กลุ่ม SUP X Klong San และไอคอนสยาม โดยมีไฮไลต์สำคัญได้แก่

• งานถลกหนังที่ไม่ต้องกลัวหนังถลอก แค่เข้าไปสัมผัสจัดการออกแบบให้เข้ากับที่อยู่อาศัยที่ “THE MAKER” ซอยกรุงธนบุรี: อยู่อย่างย่านเจริญรัถ โดย SC Asset ออกแบบผลิตภัณฑ์จัดวางในพื้นที่ห้องตัวอย่างของ The Reference Condominium ที่แสดงถึงความทรงจำที่สื่อถึงบริบทพื้นที่

9. ย่านเกษตร ด้วยแนวคิด “GREEN LIVING กรีนดีอยู่ดี” ไม่ใช่แค่เที่ยวงานเกษตรแฟร์ แต่ต้องข้ามฟากเข้าตลาดอมรพันธ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกลุ่มร้านค้าผู้ประกอบการ ชุมชนคนในพื้นที่เข้าร่วมเทศกาลครั้งนี้ พบกับไฮไลต์ที่สร้างสรรค์ พร้อมออกแบบการบริหารจัดการขยะด้วยจุดทิ้งขยะรูปแบบใหม่ ถ้าไม่เข้าใจเข้าเวิร์กช็อปได้ ด้วยแนวคิด “การจัดการขยะ และของเสียจากตลาดสดรถเข็นขายอาหาร” ออกแบบร่วมกันระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ J Market เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงระบบการจัดการขยะภายในตลาดให้ดียิ่งขึ้น โดยนิสิตจากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับร้านอาหารในย่านเกษตร

สามารถติดตามกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokdesignweek.com หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/BangkokDesignWeek

ที่มา : กรุงเทพมหานคร