ดีเดย์ 23 ม.ค. เริ่มกฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำ คุมผู้พ้นโทษเป็นภัยสังคม

15 ม.ค. 2566 | 06:01 น.

ดีเดย์ 23 ม.ค. กระทรวงยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือกฎหมาย JSOC ใช้ควบคุมและป้องกันผู้พ้นโทษ หวั่นออกมาแล้วก่อเหตุซ้ำ เป็นภัยสังคม

กฎหมายสำคัญทางด้านสังคม เตรียมจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการอีกฉบับหนึ่งแล้ว นั่นคือ พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือกฎหมาย JSOC ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ม.ค. นี้ โดยผู้ที่รับผิดชอบดูแลคือกระทรวงยุติธรรม

สาระสำคัญของกฎหมาย JSOC ถือว่ามีความสำคัญต่อการสร้างความปลอดภัยในสังคมอย่างมาก เพราะจะเป็นหนึ่งในแนวทางการป้องกันอาชญากรรม ผ่านการเฝ้าระวัง ติดตามผู้พ้นโทษในคดีเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เพื่อทำให้สังคมรู้สึกปลอดภัยจากบุคคลอันตรายมากยิ่งขึ้น โดยกฎหมายนี้มี 2 มาตรการหลัก ดังนี้

  • แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด 
  • เฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ 

 

สำหรับผู้ถูกเฝ้าระวังหลังพ้นโทษ จะถูกใส่กำไลอีเอ็ม ไม่เกิน 10 ปี หากพบพฤติกรรมเสี่ยง เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง สามารถควบคุมตัวได้ทันที ภายในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง ก่อนคุมประพฤติและสามารถเสนออัยการ ให้ยื่นศาลคุมขังฉุกเฉินได้อีกไม่เกิน 7 วัน โดยเปลี่ยนจากมาตรการเฝ้าระวัง เป็นโทษคุมขังได้ไม่เกิน 3 ปีด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ครม.คลอดกฎหมายคุม “นักโทษคดีข่มขืน” ก่อนพ้นโทษกันทำผิดซ้ำ

ภาพประกอบข่าว กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง

 

ประเดิมคุมผู้พ้นโทษ 2 ราย หลังกฎหมายมีผล

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กฎหมายนี้จะดูผู้ที่ทำผิดเมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำ จะมีการจัดให้อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังที่ต้องจับตาดู และเมื่อพ้นโทษออกมาก็จะมีการติดตามด้วยการใส่กำไล EM และอาสาสมัครคุมประพฤติ หรือหากพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจก็ขอให้ศาลสั่งคุมขังฉุกเฉินได้ โดยจะมีการติดกำไล EM 2 รายประเดิมวันที่กฎหมายมีผล

ทั้งนี้ในการผลักดันกฎหมายออกมา เพื่อแก้ปัญหาผู้พ้นโทษทำผิดซ้ำ เพราะที่ผ่านมามีหตุการณ์สะเทือนขวัญหลายกรณีที่ไม่น่าเกิดขึ้น และบางกรณีผู้ก่อเหตุก็กระทำผิดซ้ำ อย่างกรณีล่าสุดที่ นักเรียนหญิงชั้น ม.2 ถูกแทง เสียชีวิต ที่จ.ร้อยเอ็ด ประวัติของคนร้ายเอง ก็เพิ่งออกจากคุกมาไม่นาน 

เช่นเดียวกับกรณีที่ชายมีอาการเมาแล้วแทง อส. จนตายที่ จ. ตรัง ผู้ก่อเหตุก็เคยต้องคดีฆ่าผู้อื่นถึง 2 คดี เพิ่งพ้นโทษมา หรือกรณีหนุ่มคลั่ง มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุใช้มีดทำครัวไล่แทงชาวบ้านตาย ที่เขตบางกะปิ กทม. จะเห็นได้ว่าบุคคลเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสังคม 

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน ล่าสุดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมพร้อมการทำงานเพื่อรองรับการบังคับใช้ของกฎหมายแล้ว ทั้งศาล อัยการ กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ 

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พร้อมให้การช่วยเหลือเยียวยา

นอกจากมาตรการป้องกันแล้ว ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยา ยังมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่สามารถช่วยเหลือเยียวยา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา และให้คำปรึกษาในเรื่องของคดีความต่าง ๆ 

รวมไปถึงการเยียวยาจิตใจ โดยผู้เสียหายมีสิทธิจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ทั้งกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงสำนักงานยุติธรรมจังหวัดที่จะลงไปช่วยดูแลและให้คำปรึกษาต่างๆ อีกด้วย

 

คลอดกฎหมายลูกคุมพฤติกรรม

อย่างไรก็ตามนอกจากกฎหมายแม่แล้ว ที่ผ่านมาครม.ยังอนุมัติกฎหมายลูกสำคัญออกมาหนึ่งฉบับ นั่นคือ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน พ.ศ. .... 

สาระสำคัญ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน และกำหนดกลไก หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังต่าง ๆ ก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ด้วย