“สินสอด” ฉ้อโกงเอาไป ผิดเงื่อนไข - ไม่คืน ถึงขั้นติดคุก

11 ม.ค. 2566 | 22:43 น.

“สินสอด” ทรัพย์สินที่ให้เพราะหวังแต่ง ไม่ได้เปย์ไปเฉยๆ หากไม่แต่งต้องคืน ซ้ำร้าย ฉ้อโกงเอาไป ผิดเงื่อนไข - ไม่คืน ถึงขั้นติดคุก

เรียกได้ว่าส่อคดีพลิกหรือไม่ กลายเป็น "ฉ้อโกงสินสอด" สำหรับเรื่องสุดร้อน หลังทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด ได้เปิดเผยกรณีมีผู้เสียหาย มาขอคำปรึกษาทางคดี กรณีฟ้องชู้ แต่เรื่องราวเหมือนจะโอ้ละพ่อ

 

ล่าสุด มีรายงานว่า 10 ม.ค. พนักงานสอบสวน สน.บางยี่ขัน ได้นำคำร้องผัดฟ้องจำเลย ที่1-3 มายื่นแก่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาตลิ่งชัน และขอศาลออกหมายจับจำเลยที่ 4

 

โดยทั้ง 4 คนนี้ ถูกฟ้องในคดีร่วมกันฉ้อโกงตามป.อาญามาตรา 341  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  

 

ประกอบมาตรา 83 คือ เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด ต้องได้รับโทษร่วมกัน คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

คำร้องผัดฟ้องใจความว่า ระหว่างปี 2564 - 2565 นาย ย. ผู้กล่าวหาได้คบหากัน กับนาง ธ. โดยไม่ทราบว่านางธ.มีสามี และจดทะเบียนแล้ว จากนั้นได้มอบทรัพย์สินให้จำนวนมาก (ประมาณ 10 ล้านบาท) โดยมีผู้ต้องหาที่ 3-4(มารดา-บิดาของ นาง ธ.) ร่วมหลอกลวง เมื่อได้ทรัพย์สินแล้วก็หลบหน้าไปไม่สามารถติดต่อได้ และทราบในภายหลังว่า ผู้ต้องหาที่1 และ 2 จดทะเบียนสมรสกัน

ฐานเศรษฐกิจ จึงพามาทำความรู้จักความหมายของคำว่าสินสอด และการเรียกคืนสินสอดตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1437 ระบุว่า

สินสอด 

หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่ “บิดามารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง” เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยสาเหตุเกิดจากฝ่ายหญิง หรือ ทำให้ฝ่ายชายไม่ควรสมรส หรือ ไม่อาจสมรสกับหญิงนั้นได้ ฝ่ายชายสามารถเรียกสินสอดคืนได้

 

ของหมั้น

หมายถึง ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายต้องโอน หรือมอบให้กับ “หญิง” เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง

 

ฉะนั้น ลักษณะของสินสอด และของหมั้น มีความแตกต่างกันตรงที่ “สินสอด”นั้น มอบให้แก่ บิดา มารดา หรือ ผู้ปกครองของฝ่ายหญิง ในขณะที่ “ของหมั้น”คือทรัพย์สินที่มอบให้กับตัวของผู้หญิงเอง

 

ซึ่งใน ป.อาญา มาตรา1439 ยังระบุด้วยว่า เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

 

ฉ้อโกง

หมายถึง การกระทำที่หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอก โดยการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ทรัพย์สิน หรือ การทำ, การถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ จากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม  โดยความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ป.อาญา มาตรา 341)