ถอดรหัส "แจ๊คหม่า" มาไทย นัยยะทางธุรกิจ กับ'เจ้าสัว'ระดับประเทศ

08 ม.ค. 2566 | 10:19 น.

ถอดรหัสธุรกิจ ผ่านเลนส์ 'หนุ่มเมืองจันท์' กับปรากฎการณ์ไม่ธรรมดา 'แจ๊คหม่า' เยือนไทย ถ่ายรูปแนบชิด 'ศุภกิต เจียรวนนท์' บุตรชายเจ้าสัวธนินทร์ แห่ง ซีพี มีอะไรในกอไผ่?

กรณี “แจ็ค หม่า” นักธุรกิจ มหาเศรษฐีระดับโลก เจ้าของ อาลีบาบา ซึ่งไม่ปรากฎตัวในที่สาธารณะมานานเกือบ 2 ปี แต่มีภาพล่าสุด แจ็คหม่า ไปรับประทานอาหารที่ร้านเจ๊ไฝ สตรีทฟู้ดชื่อดังของไทย พร้อมไปสนามมวยราชดำเนิน และ ไปเจอบัวขาว ทำเอาคนในแวดวงธุรกิจและการเมืองไทย หูผึ่ง จับตาไม่กระพริบ กับ

 

เป็นคำถามตามมา แจ๊คหม่า มาประเทศไทยครั้งนี้ แค่มาท่องเที่ยว หรือ มาทำอะไรกันแน่! เพราะการปรากฎตัวของคนบิ๊กระดับโลกในแต่ละครั้ง ไม่มีคำว่าธรรมดาแน่นอน โดยเฉพาะความหมายในเชิงธุรกิจ เมื่อ “แจ็ค หม่า” คือ แขกของ 'ศุภกิต เจียรวนนท์' บุตรชายเจ้าสัวธนินทร์ แห่ง ซีพี ผู้เคยดูธุรกิจของซีพีในเมืองจีนทั้งหมด ขณะ “แจ็ค หม่า” กำลังหาทางลงใหม่ 

ถอดรหัส \"แจ๊คหม่า\" มาไทย นัยยะทางธุรกิจ กับ\'เจ้าสัว\'ระดับประเทศ

ล่าสุด แฟนเพจ 'ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ Live โดย หนุ่มเมืองจันท์' ซึ่งเป็นเพจดังในความรู้เชิงธุรกิจ ได้เล่าถึงเหตุการณ์เกี่ยวโยง และ ถอดรหัส การมาเยือนไทยของ 'แจ๊คหม่า' ไว้อย่างน่าสงสัยและน่าคิด กับการขยับของ " ฉลาม" ที่สามารถแหวกว่ายในมหาสมุทร ไปบุกเบิกธุรกิจใหม่ที่ประเทศไหนก็ได้ โดยมีคนระดับประเทศ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ? ดังใจความต่อไปนี้ ...

 

เห็นภาพ “แจ็ค หม่า” ไปสนามมวยราชดำเนิน และร้านเจ๊ไฝแล้วใช่ไหมครับ

คนส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่กิจกรรมและสถานที่
 “แจ็ค หม่า”  ไปดูมวยไทย  ไปเจอ “บัวขาว”
 หรือ “แจ็ค หม่า” ไปกินอาหารที่ร้านเจ๊ไฝสตรีทฟู้ดชื่อดัง
 อาจมองในเชิงอินฟลูเอนเซอร์ที่ช่วยทำให้มวยไทยและอาหารไทยดังยิ่งขึ้น

แต่คนในแวดวงธุรกิจ  เขาตั้งคำถามว่า “แจ็ค หม่า” แค่มาเที่ยวเมืองไทยหรือจะมาทำอะไรในเมืองไทย
 

บางทีคำตอบอาจอยู่ที่ภาพนี้   

ภาพของนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งยืนคู่กับ “เจ๊ไฝ” และ “แจ็ค หม่า”

คนนั้น คือ คุณศุภกิต เจียรวนนท์  บุตรชายคนโตของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” 

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
และก่อนหน้านั้น คุณศุภกิต เคยดูแลธุรกิจของซีพีในเมืองจีนทั้งหมด ครับ  

 

งานนี้ “แจ็ค หม่า” น่าจะเป็นแขกของซีพี
หรือ “ซีพี” เป็นคนอำนวยความสะดวกให้เขาในเมืองไทย
และ “แจ็ค หม่า” คงได้พบกับคุณธนินท์เรียบร้อยแล้ว

 

คุณธนินท์ เคยเล่าให้ฟังว่า “แจ็ค หม่า” เคยมาคุยกับเขา   เล่าเรื่องธุรกิจ “อาลีบาบา” ให้ฟังและชวนร่วมลงทุน

แต่คุณธนินท์ฟังโมเดลธุรกิจการขายออนไลน์แล้วยอมรับว่าเขามองภาพธุรกิจอนาคตแบบนี้ไม่ออกเขาจึงไม่ลงทุนใน “อาลีบาบา”

 

ครั้งนั้น  “ธนินท์” เป็น 1 ใน10  นักธุรกิจใหญ่ที่ “แจ็ค หม่า” ขอนัดคุยเพื่อขอระดมทุน
 
“ตอนที่เขาเสนอผม  ราคาต่ำกว่าที่ขายให้ซอฟท์แบงก์อีก”
 
“ซอฟท์แบงก์” คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “อาลีบาบา” ในตอนนี้

“แจ็ค หม่า” ก้าวขึ้นสู่นักธุรกิจระดับโลกอย่างรวดเร็ว  ทั้งร่ำรวยและโด่งดัง

เขาเปรียบเสมือนตัวแทนของประเทศที่บอกให้โลกนี้ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่และทันสมัยของจีน

 

แต่วันหนึ่ง “แจ็ค หม่า” ก็ลืมไปว่าระบบการปกครองของจีนเป็นอย่างไร

เขาวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐที่ควบคุมเรื่องการเงินของจีนอย่างรุนแรง
 
“แจ็ค หม่า” ก็กลายเป็นเทวดาตกสวรรค์ภายในเวลาไม่นาน
  Ant Group ที่กำลังจะขาย ipo ในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ถูกเตะตัดขา  รัฐบาลสั่งห้ามระดมทุนเพิ่ม  และลงมาจัดระเบียบครั้งใหญ่
 
“อาลีบาบา” ต้องจ่ายค่าปรับมโหฬารในข้อหาผูกขาดตลาด
 
“แจ็ค หม่า” ไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะนานเกือบ 2 ปี

ล่าสุด  เขาต้องยอมสละอำนาจการบริหารใน Ant Group แม้ยังถือหุ้นเหมือนเดิม

ยิ่งนานวัน ยิ่งชัดเจนว่ารัฐบาลจีนไม่ไว้ใจเขาแล้ว
การสูญเสีย “ความไว้วางใจ” จากรัฐบาลจีน คือ การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ “แจ็ค หม่า”
 
แต่โลกใบนี้ใหญ่กว่าประเทศจีน
ชื่อเสียงและความสามารถของเขายังขายได้ และเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ

 

ครั้งหนึ่ง เขาเคยบอกว่า “eBay เหมือนปลาฉลามในมหาสมุทร แต่เราเหมือนจระเข้ในแม่น้ำแยงซีเกียง”

สู้ในตลาดโลกเขาอาจพ่ายแพ้  แต่ถ้าในเมืองจีน “อาลีบาบา” ไม่แพ้อย่างแน่นอน

วันนั้นที่เขายัง “ตัวเล็ก” ยุทธศาสตร์การเป็น “จระเข้” ในแม่น้ำแยงซีเกียงอาจเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง

แต่วันนี้เมื่อเขาถูกบีบให้ออกจากแม่น้ำแยงซีเกียง
 
บางที “แจ็ค หม่า” คงต้องตั้งคำถามใหม่
ทำไมเขาต้องเป็น “จระเข้”?
ทำไมต้องอยู่ในแม่น้ำ?
เมื่อวันนี้ “แจ็ค หม่า” เป็นนักธุรกิจใหญ่ระดับโลก  เป็นคนที่คนทั่วโลกรู้จัก
เขาไม่ใช่ “จระเข้” แล้ว
แต่เขาเป็น “ฉลาม” ที่สามารถแหวกว่ายในมหาสมุทร
ไปบุกเบิกธุรกิจใหม่ที่ประเทศไหนก็ได้

 

ตอนนี้ “ซีพี” มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่โครงการหนึ่ง
ที่เป็นธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในเมืองไทย
นั่นคือ รถไฟความเร็วสูงจากมักกะสัน ผ่าน3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง  สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา

หลักการทำธุรกิจรถไฟฟ้าความเร็วสูง  “กำไร” จะไม่ได้จากรายได้ค่าตั๋ว

แต่มาจากการพัฒนาที่ดินตามสถานีต่างๆในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้ ซีพีจะสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้”
เรื่องเงินทุน  อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของ “ซีพี”

 

แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าเมืองนี้จะเป็นเมืองอัจฉริยะที่ทันสมัย และใช้เทคโนโลยีระดับสูงจริงๆ
ไม่ใช่แค่คนไทยเชื่อ
แต่คนทั้งโลกต้องเชื่อ
และเมื่อไรที่ทำให้ทุกคนเชื่อ   
 “ความเชื่อ” จะเสกเงินในอากาศได้

คำถามก็คือ ใครล่ะที่จะช่วยต่อจิ๊กซอว์ “ความเชื่อ” นี้
 บางทีคำตอบอาจอยู่ที่ภาพที่ “ร้านเจ๊ไฝ”