ทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาฉุด “การเมือง-เศรษฐกิจไทย” นักวิชาการเเนะวิธีแก้โกง

28 พ.ย. 2565 | 09:36 น.

ทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาฉุด “การเมือง-เศรษฐกิจไทย” นักวิชาการเเนะวิธีแก้โกงในประเทศไทย "ประชาชน" ต้องมีส่วนร่วม

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย  กล่าวในงาน “The Big Issue : ความโปร่งใสในการประมูลงานรัฐ กับอนาคตประเทศไทย” ระบุว่า ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในประเทศไทยที่มีปัญหาคอร์รัปชัน เป็นปัญหาที่แก้ยากมาก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน รุนแรง และซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการทุจริตในเชิงนโยบายที่สร้างความเสียหายมหาศาล

ปัจจุบันประเทศไทยได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ความโปร่งใสที่ลดลงและต้องมีการปฏิรูปอย่างถูกต้องโดยดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี ที่เผยแพร่โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) โดยประเทศไทยได้คะแนนดัชนีรับรู้การทุจริตอยู่ในอันดับ 110 ของโลกจาก 180 ชาติ และอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน

“คะแนนของไทยจะขึ้นไปสู่ระดับที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากประชาชน และถ้าไม่สามาถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้มากขึ้น ผมอยากให้ท้องถิ่นมีแพล็ตฟอร์มที่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการต่าง ๆ ได้ เพราะท้องถิ่นมีปัญหาคอร์รัปชันค่อนข้างมาก เป็นการสร้างความโปร่งใสให้ทั่วถึง จากหน่วยย่อย ๆ ที่เป็นเส้นเลือดฝอยก่อน แล้วหลายหน่วยรวมกัน เพื่อพลังแข็งแกร่ง”

 

ดร.อรรถกฤต ให้มุมมองของวิชาการสามารถอธิบายปัญหาคอร์รัปชันได้ ดังนี้ การทุจริตทางการเมือง การใช้ตำแหน่งหรืออำนาจทางราชการและการเมือง หรือในองค์กรของเอกชน เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ หรือการฉ้อโกงเอาเงินสาธารณะมาเป็นของตนและพรรคพวก หรือหาประโยชน์อื่นๆ  

 

ขณะที่องค์การสหประชาชาติให้ความหมายคอรัปชันคือ ไม่ใช่แค่พฤติกรรม แต่เป็นปรากฏการณ์ในทางสังคมการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นปัญหาสำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก

 

ขณะที่โมเดลที่มีการใช้กันโดยทั่วไปที่เกี่ยวกับคอร์รัปชัน คือ Monopoly การผูกขาด การใช้บริการ หรือการกำหนดราคา Discretion ครองอำนาจในการตัดสินใจ Accountability มีผู้รับผิดชอบและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากสมการนี้ มีความสำคัญมากในการป้องกันการทุจริต เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยบรรเทาผลของการผูกขาดและอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ให้มีมากจนทำให้เกิดการทุจริต

 

“ประเทศไทยควรจะสร้างกฎระเบียบการผูกขาด ประเทศสามารถจะมีมุมมองการพัฒนาการเมือง และถ้าดีส่งผลการพัฒนาเศรษฐกิจได้”

 

ขณะที่ในมุมมองเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ปัญหาคอร์รัปชันส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำหลายประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้าน คือ รายได้ภาครัฐน้อยลง ส่วนหนึ่งติดสินบนเลี่ยงภาษี ศักยภาพการใช้จ่ายภาครัฐ  เช่น ขนส่ง พลังงาน และอุปสรรคต่อภาคธุรกิจและการลงทุน แต่เมื่อมีการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ มักทำให้เกิดระบบผูกขาดของตลาด เช่น กีดกันผู้เล่น ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจ ลดความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างประเทศ 

 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย คือ ประชาชน ต้องมีส่วนร่วม ในการบริหารร่วมกันตั้งแต่ ต้นน้ำปลายน้ำ ควรมีการนำข้อมูลการร้องเรียนมาวิเคราะห์ ปรับแผนนโยบาย มีช่องทางส่วนตัวของท้องถิ่นโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เช่น สร้างแพล็ตฟอร์มการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างให้ข้อมูลกับประชาชนในท้องถิ่นและเข้ามาแสดงความคิดเห็นลงนโยบาย และคอมเม้นต์ในแพล็ตฟอร์มด้วย

 

ที่สำคัญ การปฎิรูปหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ทำงานโปร่งใส เช่นปฎิรูปโครงสร้างตำรวจ ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบเอาเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบร่วมกัน และเพิ่มค่าตอบแทน

 

นอกจากนี้ยังทิ้งท้ายว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องสำคัญและต้องแก้ไข เพราะเป็นการส่งผลต่อการพัฒนาทางการเมือง และเศรษฐกิจ ถ้าไม่สามารถพัฒนาการการเมืองได้ เศรษฐกิจจะไม่พัฒนา

 

"คอร์รัปชัน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางการเมือง ถ้าปัญหาคอร์รัปชันสูง การพัฒนาทางการเมืองต่ำ เศรษฐกิจไม่เกิดขึ้นการพัฒนา และถดถอย หรือโตไม่ได้สูง สิ่งสำคัญต้องหาโมเดล หาแผนยุทธศาสตร์ และแก้ปัญหาได้ จะช่วยลดระดับความเลื่อมล้ำการกระจายรายได้ ได้อย่างแน่นอน และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน"