พร้อมรับเหตุ"ฝนถล่ม"- "อุทกภัยภาคใต้"

23 ต.ค. 2565 | 03:59 น.

กระทรวงเกษตรพร้อมรับเหตุอุทกภัยฝนใต้ กรมชลประทานแจงผลติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือทุกจุดเสี่ยง มั่นใจเข้าช่วยพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที

กระทรวงเกษตร ฯ ลงพื้นที่ภาคใต้ติดตามสถานการณ์หน้าฝนใกล้ชิด เผยดำเนินการรับมือสถานการณ์ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี ’65 จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหาย ด้านกรมชลประทานเตรียมความพร้อมติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือทุกจุดเสี่ยง มั่นใจเข้าช่วยพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที

 
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากผลกระทบของพายุดีเปรสชั่นที่ก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ทางตอนใต้ของประเทศไทยมีฝนตกหนักในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนนี้ จึงมีข้อสั่งการถึงกรมชลประทานดำเนินการรับมือฤดูฝนปี 65 ตามมาตรการที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด 

ทั้งการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดสำหรับให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ 24 ชั่วโมง มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ 


 
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์ฝนตกสูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมงในจังหวัดเพชรบุรี อยู่ที่อำเภอแก่งกระจาน ปริมาณ 3.5 มิลลิเมตร ปัจจุบัน (22 ตุลาคม ’65) สถานการณ์อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี รวม 760 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

คิดเป็นร้อยละ 69 , อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 158 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 52 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 13 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 รวมปริมาณน้ำเก็บกัก 932 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 70


และแม่น้ำเพชรบุรี (B9) แม่น้ำเพชรบุรี (B16)  ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.86 เมตร และ 5.49 เมตร ตามลำดับ สถานการณ์ลำน้ำธรรมชาติยังอยู่ในสภาวะปกติ 


อย่างไรก็ดีกรมชลประทานได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดเพื่อการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจำนวน 6 จุด ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ในอำเภอบ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม 


ทั้งนี้ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณดังกล่าว และในพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นในจังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 17 ตำบล 6 อำเภอ  รวมทั้งสิ้น 45 หน่วย และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 44 หน่วย รวมเครื่องมือเครื่องจักรจำนวน 89 หน่วย

 

“กรมชลประทานยังคงเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต อยู่ในเกณฑ์ควบคุม สอดคล้องกับช่วงเวลาปลายฝนต่อต้นฤดูแล้ง พร้อมกับใช้เครื่องมือชลประทานเพื่อป้องกันบรรเทาภัยน้ำท่วมและป้องกันความเสียหายอันจะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 


ในการนี้ได้เตรียมพร้อมเครื่องมือหนัก เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำการในทุกจุดเสี่ยงภัย สามารถดำเนินการเมื่อเกิดเหตุได้ทันที นอกจากนี้ยังดำเนินการสร้างการรับรู้กับมวลชนอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าจะช่วยให้ประชาชนผ่านพ้นฤดูฝนไปได้ด้วยดี” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว