Disruptive Technology ตัวเร่ง ‘ทีวีดิจิตอล’ ก้าวสู่แพลตฟอร์มใหม่

02 ต.ค. 2564 | 08:00 น.

จับตา “ทีวีดิจิตอล” พลิกเกม ปรับตัวสู่แพลตฟอร์มใหม่ หลัง Disruptive Technology ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ดันสตรีมมิ่ง / On-demand / Online โต

การเปลี่ยนผ่านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิตอลถูกจับตามองถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม นับจากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีจนการเปลี่ยนผ่านบรรลุตามเป้าประสงค์ หลายสถานการณ์ถูกนำมาประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการเผชิญกับ Disruptive Technology

 

จากรายงานการศึกษาผลกระทบของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยภายหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล โดยสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.)

 

พบว่า Disruptive Technology ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้บริโภคเช่นการรับชมสื่อในรูปแบบสตรีมมิ่ง (Streaming) และรูปแบบเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง เช่น การมาถึงของเทคโนโลยีการสื่อสารในระบบ 5G เป็นต้น

 

ผลกระทบจาก Technology Disruption ในกิจการโทรทัศน์ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ทำให้พฤติกรรมการรับชมสื่อโทรทัศน์ของประชากรไทยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความแตกต่างระหว่างช่วงอายุของผู้ชมที่พบว่า ผู้ชมอายุน้อยมีแนวโน้มรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวในหลากหลายช่องทาง ผ่านแพลตฟอร์มและบริการต่างๆไม่เฉพาะแต่โทรทัศน์ภาคพื้นดิน

 

โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า พฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินจะมีแนวโน้มลดลง โดยชี้ให้เห็นว่าจำนวนการรับชมจะลดลง 11% - 21% ตามสมมติฐานที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าสื่อออนไลน์จะมีความสำคัญมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการโฆษณาของสื่ออื่นๆ รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ด้วย

Disruptive Technology ตัวเร่ง ‘ทีวีดิจิตอล’ ก้าวสู่แพลตฟอร์มใหม่

หากมองย้อนกลับไปจะพบว่ามูลค่าโฆษณาในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของโฆษณาในโทรทัศน์ภาคพื้นดินต่อมูลค่าโฆษณาทั้งหมดไม่ได้มีแนวโน้มลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าในระหว่างปี 2558-2563 มูลค่าจะลดลงประมาณ  17,000 ล้านบาท ในขณะที่สัดส่วนของโฆษณาในสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น 6.5% แต่มูลค่ากลับพุ่งขึ้น 544%

 

อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมสื่อโทรทัศน์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสื่อออนไลน์ที่ชัดเจนนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า สัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินแม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ไม่ได้รวดเร็ว และปริมาณเงินที่โฆษณาในสื่อโทรทัศน์มีการปรับตัวในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ

 

แต่สื่อที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของสื่อออนไลน์อย่างแท้จริงคือ “สื่อสิ่งพิมพ์” ที่มูลค่าโฆษณาลดลงกว่า 76% จาก 16,590 ล้านบาทในปี 2558 เหลือเพียง 3,833 ล้านบาทในปี 2563

 

ผลการศึกษายังพบว่าแนวโน้มการบริโภคสื่อโทรทัศน์ที่ลดลงจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลง 801.1 - 1,529.3 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า หรือเฉลี่ยสูงสุดปีละ 306 ล้านบาท ขณะที่ผลผลิตในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลดลง 1,314.8 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 263 ล้านบาท คิดเป็น 4.3% ของมูลค่าเพิ่มของกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล

 

อย่างไรก็ดีการ Disruption ของเทคโนโลยีเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลในการปรับตัวนำเสนอคอนเทนต์ (Content) ไปสู่แพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปรับชมคอนเทนต์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์

 

โดยคาดว่าในปี 2564 แนวโน้มการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านเครื่องโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลงจาก 55.8% เหลือ 48.9% และในปี 2579 แนวโน้มการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเพิ่มขึ้นจาก 22.4% เป็น 26.5%

 

วันนี้จึงต้องยอมรับว่า การบริโภคสื่อเปลี่ยนไป สื่อดั้งเดิมถูกสื่อสมัยใหม่มาแชร์ความนิยม ผู้ประกอบการทุกสื่อจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดวันนี้จึงเห็นสื่อโทรทัศน์ ให้บริการในรูปแบบ On-demand สื่อสิ่งพิมพ์ให้บริการผ่าน Online ฯลฯ และยังมีอีกหลายบริบทที่จะเกิดขึ้นจาก Disruptive Technology