เปิดปั๊ม ปตท. จอดรถโมบายสโตรคยูนิตรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

28 ก.ย. 2564 | 14:14 น.

โออาร์ เปิดพื้นที่ พีทีที สเตชั่น เป็นจุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิต เพิ่มโอกาสรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันครอบคลุมพื้นที่เขตคันนายาว เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) เปิดเผยว่า โออาร์ได้ดำเนินการ่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ในการสนับสนุนโครงการโมบายสโตรคยูนิต เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานได้อย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการรักษาและลดอัตราการตายหรือพิการของผู้ป่วย โดยการให้พื้นที่และสาธารณูปโภคที่จำเป็นภายในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ครอบคลุมพื้นที่เขตคันนายาว เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง ให้เป็นจุดจอดรถโมบายสโตรคยูนิต 
รวมทั้ง รถ EMS หรือ รถกู้ชีพฉุกเฉิน สำหรับรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันจากที่พักเพื่อมารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ถือเป็นโอกาสในการใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่โออาร์ มีอยู่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความสามารถให้กับโครงการโมบายสโตรคยูนิต ให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลเข้าสู่ชุมชน  โดยตระหนักถึงความจำเป็น ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ โมบายสโตรคยูนิต  (Mobile Stroke Unit) เป็นหน่วยบริการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเคลื่อนที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยให้การดูแลรักษาตามมาตรฐาน สามารถทำเอกซเรย์สมองได้ทันทีภายในรถ ให้ยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) เพื่อเปิดเส้นเลือดโดยการดูแลของแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ มีการประสานงานผ่านระบบรักษาทางไกล (Telemedicine) ร่วมกับแพทย์เฉพาะทางโรคสมอง รวมทั้งสามารถตรวจเอกซเรย์เส้นเลือดสมองเพื่อพิจารณาการรักษาเพิ่มเติมได้โดยเร็วอีกด้วย 

โออาร์สนับสนุนโครงการโมบายสโตรคยูนิต
โดยแนวทางการให้บริการ  คือเมื่อผู้ป่วยที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการมีอาการสงสัยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เช่น อ่อนแรงแขนขาครึ่งซีก  ปากหรือใบหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัด โดยมีอาการเฉียบพลันทันทีภายใน 4 ชั่วโมง สามารถโทรแจ้งขอรับบริการได้ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 1669 ศูนย์กู้ชีพจะประสานงานหน่วยเฉพาะกิจรักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่  โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโมบายสโตรคยูนิตจะออกปฏิบัติการรับผู้ป่วยต่อจากรถฉุกเฉินกู้ชีพเพื่อการรักษาอย่างรวดเร็ว ณ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ใกล้จุดเกิดเหตุของผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อลดระยะเวลาการเดินทาง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล และลดโอกาสเกิดความพิการและการสูญเสียชีวิต

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคหลอดเลือกสมองเฉียบพลันเป็นปัญหาสุขภาวะที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดความพิการถาวร ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัว ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันด้วยวิธีการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการได้ดีขึ้นมาก 
อย่างไรก็ดี ยังพบปัญหาผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล ต้องใช้เวลาเดินทางนานทำให้มาถึงโรงพยาบาลไม่ทันเวลา กรมการแพทย์จึงได้สนับสนุนการจัดระบบบริการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่โดยจัดสรรงบประมาณจัดซื้อรถรักษาโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่หรือโมบาลสโตรคยูนิต (Mobile stroke unit) เพื่อให้เป็นไปตามการขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) เพื่อประโยชน์การขยายบริการการรักษาให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
นายแพทย์สมบูรณ์  ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รับผิดชอบประชากรในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันมารับบริการปีละ 800-1,000 รายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี 
การเปิดหน่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเคลื่อนนี้ ถือเป็นการขยายบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันท่วงที รวมทั้งการส่งตัวผู้ป่วยเพื่อการรักษาต่อที่ซับซ้อนขึ้น โดยไม่เป็นการเสียเวลาและโอกาสของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดความพิการและอัตราการเสียชีวิต อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินอีกด้วย โดยปัจจุบันโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเป็นหนึ่งในสามสถาบันการแพทย์ที่เปิดให้บริการรถโมบายสโตรคยูนิต