แคนาดาปล่อยตัวทายาทหัวเว่ยกลับจีนแล้ว

25 ก.ย. 2564 | 20:09 น.

“เมิ่ง หว่านโจว” ผู้บริหารของ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวในแคนาดาถึง 3 ปี ได้รับอิสระและเดินทางกลับถึงจีนแล้ว หลังทีมทนายและอัยการสหรัฐตกลง “ระงับข้อกล่าวหา” โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐระบุ จะถอนฟ้องข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อจำเลย ภายในเดือนธ.ค.ปีหน้า

สื่อต่างประเทศรายงานว่า เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) บุตรสาวนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณในประเทศแคนาดานาน 3 ปี และเดินทางกลับถึงจีนแล้วในวันเสาร์ (25 ก.ย.) ภายหลังที่ทีมทนายและอัยการสหรัฐ สามารถทำความตกลง “ระงับข้อกล่าวหา” คดีฉ้อโกง-บิดเบือนข้อมูล เปิดทางให้แคนาดาปล่อยตัวเธอ

 

ขณะที่รัฐบาลจีน ในเวลาไล่เลี่ยกันก็ได้ปล่อยตัวชาวแคนาดา 2 คนที่ถูกจีนคุมขังข้อหาเป็นสายลับในปี 2561 บุคคลทั้งสองคือ ไมเคิล สปาเฟอร์ นักธุรกิจ และไมเคิล โคฟริก อดีตนักการทูตที่ทำงานให้กับองค์กร International Crisis Group ทั้งคู่ถูกปล่อยตัวและเดินทางกลับถึงประเทศแคนาดาแล้วเช่นกัน โดยระหว่างการเดินทางพวกเขามีนายโดมินิก บาร์ตัน เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศจีนเดินทางกลับมาด้วย นอกจากนี้ พวกเขาได้เข้าพบนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาในเวลาต่อมา

เมิ่ง หว่านโจว ทายาทหัวเว่ย

สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า เมิ่ง หว่านโจว เดินทางถึงเมืองเซินเจิ้นช่วงค่ำวันเสาร์ ( 25 ก.ย.เวลาท้องถิ่น) ซึ่งเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ชาวแคนาดา 2 คนถูกทางการจีนปล่อยตัวและเดินทางกลับถึงแคนาดา ทั้งนายสปาเฟอร์และโคฟริก ถูกจีนจับกุมในปี 2561 โดยทางการจีนตั้งข้อหาว่าบุคคลทั้งสองเป็นสายลับเข้ามาจารกรรมข้อมูล นอกจากนี้ ยังปฏิเสธการที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า จีนกักขังควบคุมตัวบุคคลทั้งสองเพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลแคนาดาที่จับกุมและคุมตัวนางหว่านโจว

เหตุการณ์ปล่อยตัวบุคคลทั้งสามที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน และทำให้ดูเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนตัวกันนั้น ทำให้ความบาดหมางทางการทูตที่สร้างผลกระทบเชิงลบระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและโลกตะวันตก เป็นอันสิ้นสุดลงเช่นกัน

ไมเคิล โคฟริก และไมเคิล สปาเฟอร์  ถูกทางการจีนปล่อยตัวกลับแคนาดาแล้วเช่นกัน

จีนยันสองคดีไม่เกี่ยวข้องกัน

นักวิเคราะห์กล่าวหาจีนว่า ใช้การจับกุมชาวแคนาดาสองคนนี้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองแม้ว่าทั้งคู่จะยืนยันความบริสุทธิ์มาโดยตลอด ในการตั้งโต๊ะแถลงเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ย.) ก่อนรับตัวสปาเฟอร์และโคฟริก กลับบ้านเกิดในแคนาดานั้น นายทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวเองว่า นับเป็นข่าวดีสำหรับทุกคน ที่บุคคลทั้งสองกำลังเดินทางกลับบ้านมาหาครอบครัวเสียที หลังจากที่ผ่านพ้นความยากลำบากมาอย่างไม่น่าเชื่อ   

   

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันเสาร์ (25 ก.ย.) ว่า ทางการแคนาดาปล่อยตัวเมิ่ง หว่านโจว ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอัยการสหรัฐประกาศเมื่อวันศุกร์ว่าได้บรรลุข้อตกลงกับเมิ่ง โดยฝ่ายเธอยินยอมรับคำแถลงข้อเท็จจริงของคดี รวมทั้งยอมรับว่าเคยให้ข้อมูลที่ทำให้เจ้าหน้าที่สอบสวนในสหรัฐเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจของหัวเว่ยในอิหร่าน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแลกกับการที่สหรัฐจะระงับข้อกล่าวหาของเธอไปจนถึงปี 2565 และจะยกเลิกในที่สุดหากเมิ่งปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลง

 

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐประกาศจะถอนฟ้องข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อจำเลย(นางเมิ่ง) ภายในเดือนธ.ค.ปีหน้า หากทางเมิ่ง หว่านโจว สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดได้อย่างเคร่งครัดตลอดระยะเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังเตรียมเพิกถอนคำร้องต่อรัฐบาลแคนาดา ในการขอตัวจำเลยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนด้วย

สัมพันธภาพที่ดิ่งเหวไม่อาจกอบกู้ชั่วข้ามคืน

เมิ่ง หว่านโจว วัย 49 ปี ไม่เพียงเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของหัวเว่ย แต่เธอยังเป็นบุตรสาวของนายเหริน เจิ้งเฟย อภิมหาเศรษฐีชาวจีนผู้ก่อตั้งบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่รายนี้ เธอโดนทางการแคนาดาจับกุมที่สนามบินแวนคูเวอร์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2561 ตามคำร้องขอจากทางการสหรัฐ ที่ต้องการให้แคนาดาส่งตัวเธอเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาขึ้นศาลในสหรัฐคดีฉ้อโกงและละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ เธอถูกกักบริเวณที่บ้านพักของตัวเองในแคนาดา ระหว่างรอการพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาสหรัฐ

 

การจับกุมเมิ่ง หว่านโจวในปี 2561 จุดชนวนความขัดแย้งทางการทูตระหว่างแคนาดากับจีน โดยไม่กี่วันต่อมาหลังจากที่แคนาดาจับกุมตัวเธอ  จีนก็ได้เข้าจับกุมนายไมเคิล โคฟริก อดีตนักการทูตแคนาดา และนายไมเคิล สปาเฟอร์ นักธุรกิจชาวแคนาดา ด้วยข้อกล่าวหาทั้งคู่เป็นสายลับที่เข้ามาจารกรรมข้อมูลในจีน นักวิจารณ์กล่าวว่า นี่เป็น "การทูตจับตัวประกัน"

 

รัฐบาลสหรัฐกล่าวหาเมิ่ง ผู้มีฉายาว่า "เจ้าหญิงแห่งหัวเว่ย" ว่าฉ้อโกงและให้ข้อมูลหลอกลวงธนาคารเอชเอสบีซี โดยเธอพยายามปิดบังกรณีที่บริษัท สกายคอม ที่เป็นบริษัทในเครือของหัวเว่ย ฝ่าฝืนกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ เข้าไปทำธุรกิจในอิหร่าน  แต่จีนระบุว่าข้อกล่าวหาของสหรัฐและการจับกุมเธอโดยแคนาดา เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองล้วน ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ต่อต้านบริษัท หัวเว่ย ที่สหรัฐพยายามกล่าวหาว่า มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลและกองทัพจีนอย่างเหนียวแน่น (อ่านเพิ่มเติม: จีน-สหรัฐฯพักศึกการค้า แต่แคนาดาจับผู้บริหารหัวเว่ย งานนี้ต้องเคลียร์)

 

อย่างไรก็ตาม จีนยืนยันว่าคดีของเมิ่ง หว่านโจว และการจับกุมชาวแคนาดา 2 คนโดยทางการจีนนั้น ไม่มีความเชื่อมโยงกัน อีกทั้งธรรมชาติของคดีก็มีความแตกต่างกัน  

 

แต่ถ้าถามนาย กาย เซนต์-ฌากส์ อดีตเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศจีน เขาได้กล่าวให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า การปล่อยตัวโคฟริกและสปาเฟอร์ในเวลาไล่เลี่ยกันกับการปล่อยตัวนางเมิ่งนั้น ยืนยันว่านี่คือ “การทูตจับตัวประกัน" (hostage diplomacy) และยังหมายความว่า ขวากหนามความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีลดลงไปหนึ่งอย่างก็จริง แต่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดาและจีน คงยากที่จะกลับมาเหมือนเดิม

 

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ในแวดวงการค้าและเทคโนโลยีก็เชื่อว่า บริษัทจีนหลายรายยังมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของสหรัฐ รวมถึงหัวเว่ยด้วย และอีกหลายบริษัทของจีน เช่นติ๊กต็อก (TikTok) ก็ถูกเพ่งเล็งตรวจสอบอย่างหนักหน่วง ดังนั้น แม้การปล่อยตัวผู้บริหารหัวเว่ยกลับสู่มาตุภูมิ จะทำให้สถานการณ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ดูจะคลี่คลายลงในระดับหนึ่งและไม่ทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐเลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ไม่อาจใช้เป็นหลักประกันว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ร้าวฉานและตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐ จะพลิกกลับมาเป็นดีได้ข้ามคืนด้วยเพียงเหตุการณ์เดียว   

 

ข้อมูลอ้างอิง