‘แผนฯ13’ พลิกโฉมไทย ฮับรถอีวีของภูมิภาค

25 ก.ย. 2564 | 03:05 น.

เปิดร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพิ่มรายได้ต่อหัว 8.8 พันดอลลาร์สหรัฐ หลุดพ้นความยากจนภายใน 2570 ชูไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) เปิดเผยว่า ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่ผ่านการระดมความคิดเห็นทั่วทุกภูมิภาคมาแล้ว จะพลิกโฉมประเทศไปสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก้าวทันพลวัตของโลก คนไทยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ โดยคํานึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

แผนฯ13 กำหนด 5 เป้าหมายหลัก 5 ตัวชี้วัด ได้แก่

1.ปรับโครงสร้างภาคผลิตและบริการ สู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพิ่้มรายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นไม่ตํ่ากว่า 8,800 ดอลลาร์สหรัฐ

2.พัฒนาคนสําหรับโลกยุคใหม่ ได้ดัชนี HDI ในระดับสูงมาก(ไม่ตํ่ากว่า 0.82)

3.การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม ลดช่องว่างความเป็นอยู่ของประชากรกลุ่มฐานะสูงสุด 10% และตํ่าสุด 40%

4.การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง จากกรณีปกติอย่างน้อย 15% และ

5.การเสริมสร้างสมรรถนะประเทศ พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่

 

ทั้งนี้ ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวได้กำหนด 13 หมุดหมายเพื่อการขับเคลื่อน ได้แก่

1.เป็นประเทศชั้นนําด้านสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง GDP สาขาเกษตรโต 4.5% ต่อปี เกิดวิสาหกิจชุมชนระดับดี เพิ่มขึ้น 35%

2. เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวคุณภาพและยั่งยืนทุกมิติ ค่าใช้จ่ายต่อวันเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี พึ่งนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่ม รายได้เมืองรองเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี ท่องเที่ยวชุมชนที่ผ่านมาตรฐานปีละ 50 ชุมชน

3. เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สําคัญของโลก เพิ่มการใช้รถอีวีเป็น 26 % ภายใน 2570 เพื่อเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ในอาเซียน สถานีอัดประจุเพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย แรงงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 30,000 คน

4. ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง สร้างมูลค่าเพิ่ม 17 %ของจีดีพี สร้างองค์ความรู้ มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ พัฒนาระบบบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพให้พร้อมรับภัยคุกคาม

5. ไทยเป็นประตูการค้า การลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์สําคัญของภูมิภาค ติด 20 อันดับแรกของโลกด้านความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) การลงทุนโตไม่น้อยกว่า 6% ต่อปี


 6. เป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน มีสัดส่วนต่อ GDP เป็น 30% เพิ่มการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป็น 60% เกิดเทค สตาร์ทอัพ อย่างตํ่า 6,000 แห่ง
 

นายดนุชา กล่าวอีกว่า ส่วนหมุดหมายที่ 7 นั้น ไทยจะมีSMEsที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ สามารถปรับตัวรับการแข่งขันใหม่ จีดีพีของ SMEs เพิ่มเป็น 36.5%

8. ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมเขตพัฒยาเศรษฐกิจพิเศษ กระจายรายได้ระหว่างภาค พร้อมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

 9. ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม ครัวเรือนจนข้ามรุ่นหลุดพ้นความจนภายใน 2570 ลูกหลานได้เรียนจบระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 50% และจัดความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอทุกช่วงวัย แรงงานอยู่ในระบบประกันสังคมไม่น้อยกว่า 60% คนจนสูงอายุเหลือไม่เกิน 4%

10. ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนตํ่า มีมูลค่าใน GDP เพิ่มไม่น้อยกว่า 1% มีดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมอยู่ใน 4 อันดับแรกของอาเซียน ใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ขยะต่อหัวลดลง 10% 

11. ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีภูมิคุ้มกัน

12. คนไทยสมรรถนะสูง เรียนรู้อย่างต่อเนื่องทุกช่วงวัย ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต พัฒนาการเด็กสมวัยเพิ่มเป็น 88% ผลิตภาพแรงงานไม่ตํ่ากว่า 4% ต่อปี ผลิตคนตรงความต้องการของตลาด ได้คะแนนแข่งขันด้านทักษะของ WEF เพิ่มขึ้น 20% 

13. ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ สมรรถนะสูง คล่องตัว และตอบโจทย์ คนพึงพอใจบริการภาครัฐไม่ตํ่ากว่า 85% ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อยู่ใน 40 อันดับแรกของโลก
 

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2570 ไทยจะมีเศรษฐกิจมูลค่าสูง บนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภาคการผลิตและบริการเป้าหมายมีศักยภาพสูง การผลิตและบริโภคมีความยั่งยืน เป็นสังคมแห่งโอกาสสําหรับทุกกลุ่มคนและทุกพื้นที่ 
 

สภาพัฒน์ จะเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนต.ค.2564 ถึงม.ค.2565 เพื่อนำข้อเสนอมาปรับปรุงร่าง และหลังจากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่เกินเดือนกันยายน 2565 เพื่อประกาศใช้แผนในเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้น

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,717 วันที่ 26-29 กันยายน พ.ศ.2564