"แม่โจ้"ลงสนามลุยวิจัย"พืชกระท่อม"ครบวงจร 

16 ก.ย. 2564 | 08:13 น.

 ม.แม่โจ้ ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านเกษตร เปิดตัวพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต พืชกระท่อม เปิดพื้นที่ปลูกพืชกระท่อมต้นแรก วิจัยตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบน้ำกระท่อม ใบกระท่อมอบกรอบ ชากระท่อม เจลลดปวด

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า จากการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นั้น

ได้ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคกระท่อมได้ตามวิถีชาวบ้าน รวมทั้งยังซื้อหรือขายใบกระท่อมโดยไม่ผิดกฎหมาย การปลดล็อกเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย
   รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปลุกพืชกระท่อมต้นแรกในพื้นที่ม.แม่โจ้เพื่อวิจัยให้เหมาะสมกับนิเวศภาคเหนือ  

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงตอบสนองนโยบายรัฐบาล โดยริเริ่มโครงการพัฒนาพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต : พืชกระท่อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยปลูกพืชกระท่อมต้นแรกอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 กันยายน 2564 ณ ฟาร์มมหาวิทยาลัย  ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ศึกษาและวิจัย โดยการปลูกพืชกระท่อม ให้มีความเหมาะสมตามนิเวศวิทยาของภาคเหนือ 

    มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านพืชกระท่อม ให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเทคโนโลยีการผลิตพืชกระท่อมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปัจจุบันทีมนักวิจัยสารสำคัญ และแปรรูปจนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เช่น เครื่องดื่มกระท่อม ใบกระท่อมอบกรอบ เป็นต้น จะสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตพืชกระท่อมในพื้นที่ภาคเหนือให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างดียิ่ง

"แม่โจ้"ลงสนามลุยวิจัย"พืชกระท่อม"ครบวงจร 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีความพร้อมของทีมนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นโอกาสในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเชิงอัตลักษณ์ รวมถึงเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ต้นกล้าที่หลากหลาย และมีจุดเด่นในแต่ละวิธีการ เพื่อนำไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เพื่อผลักดันให้ “พืชกระท่อมมหาวิทยาลัยแม่โจ้”เป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต
  "แม่โจ้"ลงสนามลุยวิจัย"พืชกระท่อม"ครบวงจร   

การดำเนินโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกวิจัยพืชกระท่อมให้มีความเหมาะสมตามนิเวศวิทยาของภาคเหนือ และเพื่อการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านพืชกระท่อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดจนเพื่อการสนับสนุนด้านการเรียนการสอน บริการวิจัย และบริการวิชาการ ในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีการผลิตพืชกระท่อม พัฒนาศักยภาพการผลิตพืชกระท่อมในพื้นที่ภาคเหนือ

"แม่โจ้"ลงสนามลุยวิจัย"พืชกระท่อม"ครบวงจร 
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เนตรนภา อินสลุด หัวหน้าศูนย์วิจัยพืชกระท่อมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาจารย์สังกัดคณะผลิตกรรมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ศูนย์วิจัยมีโครงการวิจัยการปลูกพืชกระท่อมหลายโครงการ เช่น โครงการวิจัยการปลูกพืชกระท่อมในนิเวศภาคเหนือ โครงการยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชกระท่อม ด้วยเทคโนโลยีที่เพิ่มศักยภาพในการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด รวมถึงเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ต้นกล้าที่หลากหลาย 
    

โครงการนวัตกรรมระบบการผลิตพืชกระท่อมในโรงเรือน เพื่อส่งเสริมการผลิตและควบคุมคุณภาพผลผลิต ให้มีสารสำคัญ เพื่อนำไปสู่การแปรรูปพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และความคิดสร้างสรรค์ของทีมวิจัย Agri INNO (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ)  จนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เช่น เครื่องดื่มกระท่อม (Kratom Drink) ใบกระท่อมอบกรอบ (Kratom Sheet) ชาใบกระท่อม (Kratom Tea) บาล์ม (Kratom Balm) เจลลดปวด (Kratom Gel) และ   กัมมี่ (Kratom Gummy) เป็นต้น
"แม่โจ้"ลงสนามลุยวิจัย"พืชกระท่อม"ครบวงจร      

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาพืชเศรษฐกิจ และวิจัยต่อยอดนวัตกรรมด้านเกษตร อาหาร สุขภาพ โดยหนุนเสริมนักวิจัยในทุกศาสตร์ และสนับสนุนองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ เทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบนิเวศในการคิดค้นวิจัยและพัฒนาเกษตรพื้นฐาน ตลอดจนนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อความเจริญวัฒนาของประชาชน และสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันและโลกอนาคต