รู้จักลองโควิด Long Covid อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด

16 ก.ย. 2564 | 22:00 น.

หายป่วยจากโควิดเเล้ว เเต่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ เรียกภาวะนี้ว่า ลองโควิด “Long COVID” อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19

หลายคนสงสัยว่าเป็นโควิดรักษาหายแล้ว แต่ทำไมยังป่วยอยู่นะ เพราะผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายแล้วบางราย  ยังรู้สึกมีอาการหลงเหลือต่อเนื่องเป็นเวลานาน 

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ภาวะลองโควิด” (Long Covid) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด 19 ระยะยาว ซึ่งสามารถพบภาวะนี้ได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยโรคโควิด 19 จึงไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจแต่อย่างใด  

วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปรู้จัก “ภาวะลองโควิด Long Covid”

Long Covid คืออะไร

Long Covid  หรือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิดในระยะยาว เนื่องจากในขณะที่ป่วยโควิดร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีบางอย่างขึ้นมา และไปจับกับโปรตีนเซลล์ของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย และไปทำลายอวัยวะส่วนต่าง ๆ 

กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะพบอาการ Long Covid

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ทีมีภาวะอ้วน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ

แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักหรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสที่จะเกิดอาการ Long Covid ได้เช่นเดียวกัน แต่จะไม่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันที่ได้จากการรับวัคซีน

อาการ Long Covid หรือผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นได้ 

  • ปวดหัว มึนงง ไม่สดชื่น
  • ความจำสั้น สมาธิสั้น
  • แสบตา คันตา น้ำตาไหล
  • คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น
  • การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป หรือพบอาการชาที่ลิ้นในบางราย
  • มีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน
  • ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • มีไข้
  • ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย
  • ปวดข้อ กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีภาวะสมองล้า
  • นอนไม่หลับ
  • ความดันโลหิตสูง
  • วิตกกังวล ซึมเศร้า

กรมควบคุมโรค บอกว่าผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายไม่มีเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว อาจมีอาการหลงเหลืออยู่ที่เรียกว่า ลอง โควิดได้ในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มป่วยรุนแรง  อาการแตกต่างกันเช่น มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง หายใจไม่อิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดสะสม แนะให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า อาการของ“ภาวะลองโควิด” แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และบางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย

โดยผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยโควิด ที่มีอาการน้อย  เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด จึงส่งผลต่อเนื่องอาจยาวนาน 3-6 เดือนได้กว่าจะกลับมาเป็นปกติ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะลองโควิดด้วย เช่น อายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ  เรื่องเพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ที่หายป่วยแล้วไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด

หากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิดแล้วยังมีอาการต้องทำอย่างไร

แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย

จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังมีความเป็นไปได้ในผู้หายป่วยแล้ว

บางรายอาจจะติดเชื้อโควิด ซ้ำได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม  แต่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน ดังนั้นผู้ป่วยโควิด 

แม้หายป่วยแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัด หรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422