9รัฐบาล เอื้อ‘ไทยคม’ ละเว้นผลประโยชน์ชาติ • นายกฯ ตั้งกก.สอบข้อเท็จจริง

10 ก.ย. 2564 | 03:30 น.

ครม.ประยุทธ์สั่ง 3 ข้อสางปมเรื้อรัง“ไทยคม” ส่งท้ายสัมปทาน30ปี ตั้ง“วิษณุ” สอบความเสียหาย หาคนผิด ม.157 เปิดเส้นทาง “สูบไทยคม”แก้สัญญาเอื้อชินคอร์ปตั้งแต่ปี 2547 ยุครัฐบาลทักษิณ ผ่านการดูแลของรัฐมนตรีไอซีที 9 รัฐบาล สุดท้ายNTบริหารยังต้องพึ่งสถานีภาคพื้นไทยคม


 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. (7 ก.ย. 2564 สามวันก่อนสัมปทานไทยคมสิ้นสุด) มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอ 3 เรื่องสำคัญ คือ
 

1.ให้ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้น ตามสัญญาเดิม  2.กรณีดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ให้ไปแก้ไขเพิ่มเติมผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมใต้สัญญา และ

 3.มอบหมายรองนายกฯ (นายวิษณุ เครืองาม) ตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงการดำเนินการที่ผ่านมา ว่าเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขและผู้รับผิดชอบ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
 

ล่าสุดนายกฯมีคำสั่งเมื่อ 9 ก.ย.2564 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การดำเนินการตามสัญญาสัมปทานไทยคม และนิติสัมพันธ์อื่นที่เกี่ยวเนื่อง ในรัฐบาลต่างๆ ตั้งแต่เริ่มแรกถึงปัจจุบัน โดยให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตประธานคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธาน และนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกฯ เป็นกก.และเลขานุการ

เส้นทาง9รัฐบาลพันปมไทยคม

ย้อนรอย 3 ปมปัญหา
 สัมปทานดาวเทียมไทยคมเริ่มต้นเมื่อ 11 ก.ย. 2534 กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาล รสช. หลังยึดอำนาจรัฐบาลชาติชาย ได้ลงนามสัญญาสัมปทาน “ไทยคม” เป็นเวลา 30 ปี ให้บ.ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งต่อมาคือบมจ.ชินคอร์ป และ อินทัช ในปัจจุบัน โดยตั้ง “บมจ.ไทยคม” ขึ้นมารับดำเนินการ ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกกิจการดาวเทียมของไทยและเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นการเติบใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจ “ชินวัตร” กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิน ชินวัตร กล่าวต่อมาว่า ที่มีวันนี้ได้ เพราะ “พี่ชาย” (พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์) ให้โอกาส
 

ต่อมาเมื่อ 27 ต.ค. 2547 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที - หลังปฎิรูประบบราชการ) อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้ง 5) ให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปฯในไทยคมลง จากเดิมไม่น้อยกว่า 51 % เหลือเป็นไม่น้อยกว่า 40 %
 หลังคณะคปค.ยึดอำนาจในปี 2549 ตั้งคตส.ตรวจสอบการกระทำผิดรัฐบาลทักษิณ ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดส่งฟ้องยึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร ฐานร่ำรวยผิดปกติ  กระทั่ง 26 ก.พ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา โดยบรรยายในกรณีไทยคมระบุว่ากระทำผิด 3 กรณี คือ 1.อนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์มิชอบ 2.แก้สัญญาดาวเทียมลดสัดส่วนหุ้นในไทยคม เอื้อชินคอร์ป และ3.ค่าประกันภัยดาวเทียมไทยคม3 จำนวน 6.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐเอื้อเอกชน
 

คำพิพากษาดังกล่าวทำให้กระทรวงดิจิทัลฯ (ไอซีทีเดิม)ตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์เวลานั้น ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแนวคำพิพากษาแต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าและบางเรื่องเห็นแย้งศาล ว่าการดำเนินการของภาคเอกชนเป็นไปตามสัญญาแล้ว คงเหลือเพียงประเด็นไอพีสตาร์และแก้สัญญาครั้งที่ 5 ลดสัดส่วนหุ้นเอื้อเอกชน ที่ยังคาราคาซังจนมีมติครม.ล่าสุดดังกล่าว

บี้ 9รัฐบาล “ผิด157”
 ข้อ 3 มติครม.ข้างต้น ตั้งรองฯวิษณุสอบความเสียหายที่ผ่านมานั้น เป็นอีกปมว่าจะเกิดดอกผลอะไรหรือไม่ โดยกรณีความผิดการแก้สัญญาดาวเทียมลดสัดส่วนหุ้นให้ชินคอร์ปนั้น เมื่อ 25 ส.ค. 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาฎีกา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (ม.157) ไปแล้ว
 

ทั้งนี้ นับแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาชี้ว่าเรื่องไทยคมมีการกระทำผิด 3 กรณี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีไอซีที ที่เริ่มต้นรับไปดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา แต่ก็มีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีมาเป็นระยะ ผ่านมือรัฐมนตรีไอซีที (หรือดีอีเอสในปัจจุบัน) ผ่านมาอีก 3 รัฐบาล คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลประยุทธ์ 1 และ 2

 ถ้าจะไล่กลับไปถึงตั้งแต่การอนุมัติแก้สัญญาสัมปทานดาวเทียมครั้งที่ 5 เมื่อปี 2547 จะผ่านรัฐบาลถึง 9 คณะ คือรวมถึง รัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังการรัฐประหารของคปค. ต่อด้วยรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย

รัฐแบะท่าพึ่ง “ไทยคม” ต่อ
 อย่างไรก็ตาม ช่วงรอยต่อการสิ้นสุดสัมปทานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบใบอนุญาตจากนี้ไป มีความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตา เมื่อบริษัท อินทัช โฮล ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของไทยคม ได้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ของนายสารัชถ์ รัตนาวะดี  ที่ประสบความสำเร็จ ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์สมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer) เข้ามาซื้อกิจการในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH สำเร็จในราคาหุ้น 65 บาท คิดเป็นหุ้นทั้งสิ้น 1,354,752,952 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนหุ้นที่ถือทั้งหมด 42.25% ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ THCOM
 

ขณะที่อนาคตไทยคมจากนี้ไปนั้น นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การโอนทรัพย์สินเริ่มวันแรก 11 ก.ย.นี้ โดยไทยคมจะส่งคืนดาวเทียมทั้งสองดวงมาให้ ส่วนเทเลพอร์ตเซอร์วิส หรือ เกตเวย์ และสถานีภาคพื้นดิน เป็นสิทธิของไทยคม
 

ดังนั้น การทำธุรกิจดาวเทียม จำเป็นต้องใช้สถานีฐานอัพลิงค์ และ ดาวน์ลิงค์ เพื่อรับส่งสัญญาณ ซึ่งบางส่วน NT ให้บริการเอง และบางส่วนต้องเช่าใช้จากไทยคม เพราะเป็นผู้ให้บริการสถานีแม่ข่าย Gateway Service ทั้งในและต่างประเทศ

 “เราไม่ได้ยกสิทธิสัมปทานให้ต่อ เพราะ NT ยังไม่มีความพร้อม ถ้าสัญญาณไม่พอไปเช่าไปใช้บริการของ ไทยคม เพื่อให้สัญญาณบริการกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง”

หน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,713 ประจำวันที่ 12-15 กันยายน พ.ศ.2564