คิวบาเตรียมฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก 2 ขวบประเทศแรกของโลก

08 ก.ย. 2564 | 02:52 น.

หมอเฉลิมชัยเผยคิวบาเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป ด้าน กทม. เตรียมฉีดให้เด็กอายุ 12-18 ปีกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
คิวบาเป็นประเทศแรกในโลก ที่ประกาศฉีดวัคซีนโควิดให้กับเด็กอายุน้อย ตั้งแต่สองขวบขึ้นไป เพื่อรองรับการเปิดเทอม
ปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด นอกจากจะมีประเด็นเรื่องวัคซีนไม่เพียงพอ มีราคาแพง ทำให้การฉีดไม่ทั่วถึงแล้ว ยังมีปัญหาการวิจัยทดลองวัคซีน ไม่ได้ทำในเด็กอายุน้อย ทำให้ขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลก ยังไม่กล้าฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเพราะต้องรอผลการวิจัยให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงเกิดปัญหา การไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้ในหลายประเทศ และบางประเทศที่กล้าหาญตัดสินใจเปิดโรงเรียน โดยที่เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็มีการระบาดและต้องปิดโรงเรียนไปแล้วหลายประเทศ
วัคซีนที่ได้ทำการวิจัย และประกาศอย่างเป็นทางการให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินได้คือ ไฟเซอร์ ฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป
ในขณะเดียวกัน มีการวิจัยทดลองของบริษัท Sinovac และ Sinopharm ที่กำลังทดลองในประเทศจีน ฉีดในเด็กอายุสามขวบขึ้นไป แต่ยังไม่ได้ประกาศรับรองให้ฉีดเป็นทางการได้
โดยรวมแล้วประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี มีดังนี้
1.สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เยอรมัน ฝรั่งเศส ให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ เฉพาะของ Pfizer
2.ชิลี ให้ฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปได้ ของ Sinovac
3.อังกฤษและไทย ให้ฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่วนอายุ 12-15 ปี ฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ มีโรคประจำตัว

โดยที่บริษัท Pfizer และ Moderna กำลังวิจัยทดลองในเด็กอายุตั้งแต่ห้าขวบขึ้นไป
ส่วนบริษัท Sinovac และ Sinopharm กำลังวิจัยทดลองในเด็กอายุตั้งแต่สามขวบขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ประเทศคิวบาซึ่งสามารถวิจัยพัฒนาวัคซีนของตนเองได้แล้วสองชนิด ได้ประกาศให้ฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 และวันที่ 6 กันยายน 2564 คิวบาได้สร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลก โดยการประกาศให้ฉีดวัคซีนสองยี่ห้อ คือ Abdala และ Soberana ซึ่งใช้โปรตีนเป็นฐานแบบเดียวกับ Novavax และ Sanofi ให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบถึง 11 ปี
ทั้งนี้เพื่อจะทำให้สามารถเปิดโรงเรียนได้ทั่วประเทศ เนื่องจากมีการปิดโรงเรียนในคิวบามาตั้งแต่มีนาคม 2563 และที่ผ่านมาได้มีความพยายามลองเปิดดู ก็พบการระบาดในโรงเรียน จนต้องปิดโรงเรียนไป

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
ในปีนี้คือ เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2564 รัฐบาลคิวบาต้องการจะเปิดโรงเรียนให้เด็กทุกคนมาเรียนหนังสือได้ จึงตัดสินใจประกาศฉีดวัคซีนในเด็กอายุสองขวบขึ้นไปทุกคน
เมื่อฉีดครบแล้วก็ จะได้สามารถเปิดโรงเรียนได้ ส่วนผลดีผลเสียระหว่างการเปิดโรงเรียนได้ กับการต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของวัคซีนที่ยังศึกษาทดลองไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องไปตัดสินใจเอง
คิวบา มีการติดเชื้ออยู่อันดับที่ 45 ของโลก มีผู้ติดเชื้อ 696,904 คน เสียชีวิต 5788 คน สำหรับประเทศที่มีประชากร 11.318 ล้านคน ต้องถือว่ามีการติดเชื้ออยู่ในระดับค่อนข้างสูงทีเดียว

สำหรับในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลล่าสุดพบว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ระบุว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) เข็มแรกให้กับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยประชาสัมพันธ์แจ้งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 โรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 12 - 18 ปี (กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง) เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 64 โดยให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน QR Code ตั้งแต่วันที่ 6 - 8 ก.ย. 64
ซึ่งนักเรียนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ โดยมีเอกสารที่ระบุการเจ็บป่วย เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดตรวจสถานพยาบาล หรือใบรับรองความพิการ หรือใบรับรองหรือเอกสารใดๆ ที่ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามเกณฑ์ที่กำหนด
กรุงเทพมหานคร ได้ทำการสำรวจข้อมูลนักเรียนในสังกัดที่มีอายุระหว่าง 12 - 18 ปี ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนเกี่ยวกับการรับวัคซีน โดยสำรวจผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้

กทม. เตรียมฉีดวัคซีนให้เด็ก 12-18 ปี (กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง)
ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง
กลุ่มอายุ 12 - 13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม
กลุ่มอายุ 13 - 15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม
กลุ่มอายุ 15 - 18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม และ
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่
โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น
โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
โรคไตวายเรื้อรัง
โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
โรคเบาหวาน
กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครโดยสำนักอนามัยได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12 - 18 ปี ทุกสังกัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการประชุมหารือแนวทางร่วมกันในวันที่ 9 ก.ย. 64 ซึ่งคาดว่าจะมีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่การสำรวจกลุ่มเป้าหมายนักเรียนและผู้ปกครองถึงความประสงค์ให้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 การจัดหน่วยสาธารณสุขเพื่อให้บริการฉีดวัคซีน การติดตามอาการภายหลังได้รับวัคซีน และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและการเตรียมตัวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับนักเรียนจะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วย