เปิดผลวิจัยเปรียบเทียบ Sinovac-Pfizer-AstraZeneca วัคซีนโควิด 3 เทคโนโลยี

07 ก.ย. 2564 | 02:35 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลการปรียบเทียบ Sinovac-Pfizer-AstraZeneca วัคซีนป้องกันโควิด 3 บริษัท 3 เทคโนโลยี ในโลกแห่งความเป็นจริงว่ามีประสิทธิผลมากน้อยต่างกันอย่างไรในผู้รับวัคซีนนับสิบล้านคน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
เปรียบเทียบ Sinovac Pfizer Astra วัคซีนป้องกันโควิด 3 บริษัท 3 เทคโนโลยี ในโลกแห่งความเป็นจริง ว่ามีประสิทธิผลมากน้อยต่างกันอย่างไร ในผู้รับวัคซีนนับสิบล้านคน
จากการที่บริษัทวัคซีนต่างๆ ได้วิจัยพัฒนาวัคซีนของตนเองขึ้นมา และทำการทดลองในสัตว์ทดลอง จนกระทั่งมาทดลองในมนุษย์ แบ่งเป็นเฟสหนึ่ง สอง และสาม โดยเฉพาะในเฟสสาม จะเป็นการวัดประสิทธิผล (Efficacy) ในอาสาสมัครที่ได้รับการคัดเลือกของแต่ละบริษัท จำนวนหลักหมื่นคน และประกาศประสิทธิผลออกมา เพื่อขอการรับรองการฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA)
ผลที่ตามมาก็คือ การเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละชนิด ทำได้โดยยากมาก เพราะประสิทธิผลที่ประกาศออกมา เป็นประสิทธิผล (Efficacy) ของวัคซีนของบริษัทตนเอง ในสถานการณ์ห้วงเวลาที่มีไวรัสแตกต่างสายพันธุ์กัน มีความชุกของการระบาดโรคต่างกัน ในสถานที่แตกต่างกัน และในกลุ่มอาสาสมัครที่มีลักษณะแตกต่างกันด้วย
ดังนั้น เมื่อเริ่มมีการฉีดวัคซีนในโลกแห่งความเป็นจริง (Real World) เราจึงมักพบประสิทธิผล (Effectiveness) เริ่มมีตัวเลขที่แตกต่างไปจากประสิทธิผลในการทดลองเฟสสามของอาสาสมัคร (Efficacy)
แต่อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบประสิทธิผลในโลกแห่งความเป็นจริงที่ผ่านมา ก็ยังไม่ค่อยสมบูรณ์นัก  เนื่องจากไม่ค่อยมีประเทศที่ฉีดวัคซีนหลากหลายบริษัท หลากหลายเทคโนโลยีในจำนวนนับเป็นล้านคน ในห้วงเวลาเดียวกัน

แต่ขณะนี้ ประเทศชิลี หนึ่งในประเทศของทวีปอเมริกาใต้ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แต่เป็นประเทศที่มีระบบการบริหารจัดการเรื่องสุขภาพดีมากคือ สามารถระดมฉีดวัคซีนได้กว่า 80% ของกลุ่มประชากรเป้าหมาย และยังมีระบบการเก็บข้อมูลสถิติของประชากรทางด้านสาธารณสุขอย่างดีมาก จึงเป็นที่มาของรายงานที่น่าสนใจมากของประเทศชิลี
กระทรวงสาธารณสุขประเทศชิลี ได้รายงานประสิทธิผลในโลกแห่งความเป็นจริง (Effectiveness) ของวัคซีนหลัก 3 ชนิด ที่ฉีดในประเทศชิลีคือ
1.Sinovac ฉีดไป 8.6 ล้านคน
2.Pfizer/BioNTech ฉีดไป 4.5 ล้านคน
3.AstraZeneca ฉีดไป 2.38 ล้านคน
รวมมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มทั้งสิ้น 12,167,623 คน คิดเป็น 80% ของประชากรเป้าหมาย และคิดเป็น 63% ของประชากรทั้งประเทศ (19.31 ล้านคน)

เทียบวัคซีน 3 เทคโนโลยี
จำนวนวัคซีนที่ฉีดทั้งสิ้น 24,823,976 โดส โดยมีผู้ได้รับเข็มหนึ่งไป 13,163,094 โดส
การวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุขชิลี สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ของประเทศ ได้ทำการปรับรายละเอียดต่างๆให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ สามารถเปรียบเทียบกันได้จริง ทั้งในมิติด้าน อายุ เพศ โรคประจำตัว เชื้อชาติ ระดับรายได้ ตลอดจนภูมิภาคภูมิลำเนาที่อยู่อาศัย โดยเป็นการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564
การประเมินประสิทธิผลในโลกแห่งความเป็นจริง เปรียบเทียบระหว่างคนฉีดวัคซีน และคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนต่างบริษัท และต่างเทคโนโลยีในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ผลตัวเลขออกมาแตกต่างกับประสิทธิผลที่ต่างบริษัทต่างประเมินของตนเองในอาสาสมัคร

โดยจุดแข็งของรายงานฉบับนี้ประกอบด้วย
1.มีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ที่ทำอย่างรวดเร็วแบบ Real time
2.มีฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งครบถ้วน
3.มีขนาดตัวอย่างที่ฉีดวัคซีนจำนวนมาก ซึ่งมีความครบถ้วนหลากหลายเพียงพอ
4.มีการติดตามประเมินผลตลอดเวลา
ผลที่ออกมาน่าสนใจมาก ดังนี้
วัคซีน Sinovac 
ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 58.49% 
ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 86.02% 
ป้องกันการเข้าไอซียู 89.68% 
ป้องกันการเสียชีวิต 86.38%
วัคซีนของ Pfizer 
ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 87.69% 
ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 97.15% 
ป้องกันการเข้าไอซียู 98.29% 
ป้องกันการเสียชีวิต 100%

เทียบประสิทธิผลของวัคซีนโควิด
วัคซีน AstraZeneca 
ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 68.68% 
ป้องกันการเข้าโรงพยาบาล 100% 
ป้องกันการเข้าไอซียู 100% 
ป้องกันการเสียชีวิต 100%
พอจะสรุปได้ว่า
1.วัคซีนทั้งสามชนิด สามารถป้องกัน หรือลดความรุนแรงของการติดเชื้อแบบป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล การเข้าไอซียู และการเสียชีวิตได้ดีมาก ตั้งแต่ 86-100%
2.วัคซีนทั้งสามชนิด ป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการได้ลดลงทุกวัคซีน เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิผลในการทดลองกับอาสาสมัคร
3.วัคซีน Sinovac สองเข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 58.49%  ซึ่งทำให้จำเป็นต้องพิจารณาการฉีดกระตุ้นเข็มสามต่อไป
ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่เก็บในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก มีระบบการเก็บข้อมูลที่ดีและน่าเชื่อถือ จึงเป็นประโยชน์กับทุกประเทศที่จะนำไปใช้ประกอบในการวางแผนการฉีดวัคซีนของประเทศตนเองต่อไป รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-5 ก.ย. 64 มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 35,912,894 โดส แบ่งเป็น ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 25,234,259 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 10,074,612 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 604,023 ราย