หยุดอุ้มกลุ่มทุน! ปชช. จี้ ทบทวนเก็บภาษี 6 ข้อเสนอ เก็บรายได้-เพิ่มสวัสดิการ

27 ส.ค. 2564 | 07:43 น.

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกฯ ขอทบทวนการจัดเก็บภาษี เพื่อนำไปจัดสวัสดิการให้ประชาชน เปิด 6 ข้อเสนอเร่งด่วน ตั้งแต่ ลดเพดานภาษีที่ดิน - เพิ่มภาษีเงินได้บุคคล - เก็บภาษีความมั่งคั่ง และปรับโครงสร้างประชากร เพิ่มรายได้รัฐ วอนหยุดอุ้มเอกชน

27 สิงหาคม 2564 - จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี โดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม  โดยเฉพาะกับประชาชนคนเล็กคนน้อย แม้ว่าคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (กกร.) จะเสนอแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการลด หรือยกเว้นภาษีต่างๆ นั้น

 

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เห็นว่า ข้อเสนอของ กกร. เป็นข้อเสนอที่เน้นการช่วยเหลือกลุ่มทุนและผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเป็นหลัก เช่น การขยายเวลาลดภาษีที่ดิน ลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือลดหย่อนภาษีเป็น ๒ เท่าสำหรับเอกชน เป็นต้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ประโยชน์จากการลด หรืองดเว้นภาษีนั้นๆ อีกทั้งยังมองไม่เห็นมาตรการใดๆ จากรัฐบาลที่จะมาดูแลคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในแบบระยะยาวและระยะยั่งยืน อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่พอกพูนยิ่งขึ้นในสังคมไทย

 

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จึงมีข้อเสนอต่อมาตรการทางด้านภาษี เพื่อเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับรัฐบาลนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมด้วยการจัดสวัสดิการในด้านต่างๆ ให้กับประชาชน ดังนี้
 

  • ให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้ในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือ Capital Gain เพื่อให้คนที่ได้กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น ต้องเสียภาษี
  • ลดเพดานการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างลง เช่น จากมูลค่าที่ดินทางการเกษตรหรือที่อยู่อาศัย ๕๐ ล้านบาท ลดเพดานลงเหลือ ๕ ล้านบาท เป็นต้น 
  • ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการระยะสั้น หรือระยะยาวของรัฐ เช่น การซื้อกองทุน พันธบัตร การกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ เป็นต้น
  • ปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นร้อยละ ๒๕ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ
  • ให้มีการพิจารณาศึกษาถึงข้อเสนอของธนาคารโลกในการจัดเก็บภาษีเพิ่มจากบุคคลที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูง หรือ “ภาษีความมั่งคั่ง” 
  • ปรับโครงสร้างรายได้ของประชากรให้เป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ เพราะเมื่อประชากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โอกาสที่จะเสียภาษีให้รัฐย่อมมีมากขึ้น 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวที่เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเสนอนี้ เพื่อให้รัฐมีงบประมาณในการนำมาใช้บริหารประเทศได้มากขึ้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่อาจจะกระทบกับคนหมู่มากซึ่งในอีกทางหนึ่งจะเป็นการลดช่องว่างทางฐานะเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นการกระจายทรัพยากรของประเทศให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

 

รัฐควรใช้งบประมาณโดยการจัดสรรความสำคัญใหม่ อย่างการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพราะประเทศชาติจะพัฒนา หรือผ่านพ้นวิกฤติใดๆ ได้ มาจากการมีประชากรที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เพียงความมั่นคงทางการทหาร หรือความมั่นคงของทุนเอกชน