โควิดทุบเชื่อมั่นลงทุนวูบ กนอ.หั่นเป้าซื้อ-ขายที่ดินในนิคมฯ

26 ส.ค. 2564 | 04:25 น.

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถึงแผนรับมือสู้กับไวรัสร้ายโควิด-19 รวมถึงท่าทีทุนต่างชาติด้านความเชื่อมั่นลงทุน และเป้าหมายการขยายตัวของการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่หลังโควิดสงบลง

 

โควิดทุบเชื่อมั่นลงทุนวูบ กนอ.หั่นเป้าซื้อ-ขายที่ดินในนิคมฯ

 

 เรียกว่าตกอยู่ในอาการหวาดผวาไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะบรรดาลูกจ้าง-นายจ้าง เพราะต่อให้ระวังแค่ไหนก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะไม่ติดเชื้อโควิด จากถึง ณ ปัจจุบันมีคนไทยติดเชื้อสะสมทะลุ 1 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว แต่ที่น่ากลัวคือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการที่จะเป็นพาหะไปสู่คนอื่นได้ ยิ่งบางพื้นที่ที่เชื้อโควิดได้ระบาดเข้าไปในคลัสเตอร์โรงงานยิ่งนั่งไม่ติด ต่างต้องยกกระดับมาตรการรับมือ  โดยเฉพาะพื้นที่ศูนย์รวมภาคการผลิตอย่างนิคมอุตสาหกรรม ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ด้านการลงทุนของประเทศ

 

 ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ  นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถึงแผนรับมือสู้กับไวรัสร้ายโควิด-19  รวมถึงท่าทีทุนต่างชาติด้านความเชื่อมั่นลงทุน และเป้าหมายการขยายตัวของการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่หลังโควิดสงบลง

 

กนอ.ลุยรับมือโควิด

 นายวีริศ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงาน กนอ. ได้มีมาตรการช่วยเหลือและดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีแผนบริหารจัดสรรวัคซีนฉีดให้พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม ไล่ตั้งแต่ การจัดสถานที่บริการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม

 

 กนอ. ได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และแนวปฏิบัติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในการทำมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ Bubble & Seal เพื่อการป้องกันและเพื่อการควบคุมโควิดในสถานประกอบการ และสนับสนุนให้สถานประกอบการจัดหาที่พักสำหรับดูแลผู้ติดเชื้อ(Factory Isolation) เพื่อจำกัดวงการระบาดไม่ให้ไปสู่ชุมชน และทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังคงดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

 

วีริศ  อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.

 

เล็งใช้ Bubble & Seal กับนิคมฯทั่วประเทศ

 สำหรับมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ Bubble & Seal เพื่อการป้องกัน นั้นต้องมีการประเมินความเสี่ยงของพนักงานทุกวัน โดยตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) กรณีมีแรงงานเข้ามาใหม่ต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน สำหรับมาตรการ Bubble & Seal เพื่อการควบคุมโรคนั้น จะต้องมีมาตรการดูแลด้านสังคมร่วมด้วย เช่น การจัดเตรียมสถานที่พักในโรงงาน โรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ รวมทั้งสนับสนุนปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ มีการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย  ทั้งนี้ มาตรการ Bubble & Seal เพื่อการควบคุมโรคถูกนำมาใช้แล้วในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร และสามารถจำกัดการระบาดของเชื้อโควิดได้ดีในการระบาดระลอกที่ 2

 

 ดังนั้น จึงมองว่า หากมีการนำไปประยุกต์ใช้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ น่าจะช่วยจำกัดการแพร่ระบาดได้ ทั้งนี้รูปแบบที่ใช้ต้องเหมาะสมกับประเภทกิจการพื้นที่และแรงงานด้วย นอกจากนี้กนอ. ได้ดำเนินการประสานงานจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ผู้ประกอบการชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้บริหาร ช่างฝีมือชำนาญการ ที่ได้รับสิทธิในการทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรไทยภายใต้ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากบุคลากรกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คาดจะเริ่มทยอยรับวัคซีนได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

โควิดทุบเชื่อมั่นลงทุนวูบ กนอ.หั่นเป้าซื้อ-ขายที่ดินในนิคมฯ

 

 

พิษโควิดฉุดเชื่อมั่นมากสุด

นายวีริศ กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยลบที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ปัจจุบันการกระจายฉีดวัคซีนยังคงทำได้ไม่มากนัก หากสามารถบริหารให้ฉีดวัคซีนในหลัก 4-5 แสนคนต่อวันได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น

 

 ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าวอีกว่า ปี 2564 กนอ. ต้องปรับลดเป้าการซื้อ-ขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลง เหลือประมาณ 1,200 ไร่ (เดิมตั้งเป้า 1,500 ไร่) จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศถูกจำกัด นักลงทุนต่างชะลอการลงทุนเพื่อดูแนวโน้มเศรษฐกิจการลงทุนในภาพใหญ่

 

นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-มิ.ย.64) การลงทุนมีการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรม มียอดขาย/เช่าพื้นที่ประมาณ 927.09 ไร่ ประกอบด้วย ยอดการขาย/เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 747.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 179.10 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 49.59 (ปี 2563 ยอดขายช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 1,838.96 ไร่)

 

 ขณะที่การลงทุนในนิคมฯรวมช่วง 9 เดือนปี 2564 มีมูลค่า 130,289.44 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 138.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (ช่วงเดียวกันของปี 2563 อยู่ที่ 54,681.37 ล้านบาท) ผลจากการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าเดิมในนิคมฯที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

 

 สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลงทุน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่  โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง ร้อยละ 13.77 อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ร้อยละ 10.83 อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม ร้อยละ 7.80 อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ ร้อยละ 7.01 และอุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์ ร้อยละ 6.05 โดยนักลงทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 15.15 รองลงมาคือ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 12.12  และสิงคโปร์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 9.09

 

ทุนข้ามชาติยังสนใจไทย

ด้านท่าทีนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางสถานการณ์โควิด ยังมีความสนใจที่จะมาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เห็นได้จากปัจจุบันมีนักลงทุนแสดงความสนใจที่จะซื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า (Warehouse) ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น ประกอบกับกระแสการย้ายการลงทุนออกจากประเทศจีนของกลุ่มนักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น และอเมริกามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และประเทศไทยยังมีศักยภาพและความแข็งแกร่งในการรองรับการลงทุนเพื่อเป็นฐานและศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมฯ ที่ กนอ. ดำเนินการเอง และนิคมฯ ร่วมดำเนินงาน ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

 

 “เชื่อว่าในช่วงปลายปี 2564 การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะดีขึ้น โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้ และความพยายามของภาครัฐที่จัดหาและจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงปลายปี 2564 และรวมถึงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ ล่าสุดกนอ. ได้รับการประสานงานหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น โดยพบว่ามีหลายบริษัท ยังคงแสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม”

 

หารือ BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์

 อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่โรคระบาดและการแข่งขันสูง กนอ. ได้ปรับแผนการตลาดเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยอาจมีการหารือกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุน เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยเป็นแรงงานฝีมือ ดังนั้น อาจจะปรับเพิ่มในเรื่องการยกระดับเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนสนใจมากขึ้น  และเดินหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 4.0 ตามแผนที่วางไว้

 

 รวมถึงมีการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องสาธารณูปโภคโดยเฉพาะเรื่องน้ำในพื้นที่อีอีซี ได้มีการหารือกันในเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการหาแหล่งน้ำสำรอง โดยที่ กนอ. อาจไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ และมีแผนดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกของ กนอ. เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจ รวมถึงแนวทางธุรกิจใหม่ ๆ ของ กนอ.ในอนาคต

 

โควิดทุบเชื่อมั่นลงทุนวูบ กนอ.หั่นเป้าซื้อ-ขายที่ดินในนิคมฯ

จับตา 2 นิคมใหม่ผงาดหลังโควิดสงบ

 ผู้ว่าการ กนอ.ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงแผนการลงทุนว่า  กนอ. มีแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท  มีผู้ร่วมดำเนินงานคือ บริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค จำกัด ทุนจดทะเบียน   360 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนราว 1,767.73  ล้านบาท พื้นที่โครงการ 2,191-1-98.40  ไร่   ตั้งโครงการ ในตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยอุตสาหกรรมเป้าหมาย  ที่จะเข้ามาลงทุน เช่น อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง/ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์/ กลุ่มเกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตรที่มีความต้องการใช้น้ำต่ำ/ อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการวิจัยและพัฒนา คลังสินค้า โลจิสติกส์/ กลุ่มการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง/ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

 “คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 จะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศอีกประมาณ 64,000 ล้านบาท และเกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 16,000 คน

 

2.นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้  มีผู้ร่วมดำเนินงานคือ  บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด

ทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท มูลค่าการลงทุน ประมาณ 4,856 ล้านบาท พื้นที่โครงการ  1,181-0-8.70 ไร่ ตั้งโครงการ  ที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา  กลุ่มลูกค้าที่จะมาลงทุนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและสมัยใหม่ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง กิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

จะเป็นอีกโครงการที่เปิดดำเนินการได้ในปี 2567 จะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศอีกประมาณ 33,200 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8,300 คน โดยนิคมฯทั้ง 2 แห่งจะเข้ามามีบทบาทในช่วงที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสงบลงเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ที่เข้ามา

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3708 วันที่ 26-28 ส.ค. 2564